‘กรมวิทย์’ เซ็นเอ็มโอยู ‘มทร.อีสาน’ วิจัยสายพันธุ์กัญชาไทยแท้ ประกาศเป็นฮับเมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชง

‘กรมวิทย์’ เซ็นเอ็มโอยู ‘มทร.อีสาน’ วิจัยสายพันธุ์กัญชาไทยแท้ ‘หางกระรอก’ พร้อมประกาศเป็นฮับเมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชงของไทย จ่อยื่นขึ้นทะเบียน 2 ตำรับหมอพื้นบ้าน ‘สูตรพรหมพิทักษ์ รักษามะเร็ง-น้ำมันภูพาน แก้ฝีในท้อง’

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 1 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามข้อตกลงร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสกลนคร (มทร.อีสาน) ศึกษาวิจัยกัญชาสายพันธุ์ไทย โดยใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกัญชา ตั้งแต่การเพาะปลูก คัดเลือกสายพันธุ์ การตรวจระบุชนิดพืช สารสกัดกัญชาและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชา เพื่อให้วัตถุดิบกัญชาคุณภาพดี รวมถึงสูตรตำรับยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วิธีการบำบัดรักษาโรคให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ซึ่งมี ผศ.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมลงนาม และมี รศ.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร ผศ.นสพ.ชเวง สารคล่อง คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ นพ.พิเชษฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นพ.โอภาสกล่าวว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ได้บรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เพื่อส่งเสริมให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจและทางการแพทย์ สอดคล้องกับนโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ประชาชน และทำให้สุขภาพคนไทยแข็งแรง ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งกัญชามีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าใช้รักษาโรคได้ แต่การใช้ต้องถูกควบคุม กำกับและใช้อย่างระมัดระวัง โดยสิ่งสำคัญในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์คือการสร้างความรู้และการศึกษาวิจัย หลังจากถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายยาเสพติดมากว่า 40 ปี ซึ่งจะเป็นฐานในการสร้างความรู้ให้แก่ประเทศ สอดคล้องกับภารกิจ มทร.อีสาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการเพาะปลูก ศึกษาสายพันธุ์ และสนับสนุนผลผลิตให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการปรุงตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม 16 ตำรับ

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะเดียวกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีห้องปฏิบัติการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ล่าสุดยังเปิดศูนย์ประสานการตรวจกัญชาทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เชื่อมโยงกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ตั้งแต่การตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบ สารสกัดยาจากกัญชา และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป รวมถึงการตรวจความเป็นพิษในคนและการได้ประโยชน์จากกัญชาในคน ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า และวางมาตรฐานกลางการตรวจวิเคราะห์ของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แย่งกันทำ นอกจากนี้ ในอนาคตจะหารือเพื่อร่วมมือในการพัฒนาสายพันธุ์กัญชง และกระท่อม ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านสมุนไพรได้น้อยมาก ทั้งที่ไทยเป็นเมืองสมุนไพร

ผศ.วิโรจน์กล่าวว่า สำหรับ มทร.อีสาน เน้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3 เรื่อง ได้แก่ วิชาชีพด้านการช่าง ด้านการบริหารธุรกิจ และด้านการเกษตร ทำให้ตอบโจทย์ต่อนโยบายภาครัฐในหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิทยาเขตสกลนครและสุรินทร์ มีความเชี่ยวชาญพื้นฐานด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพืชสมุนไพรกัญชา ทั้งนี้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้ตั้งเป้าให้ มทร.อีสาน เป็นศูนย์กลางพัฒนาด้านอาหารและสุขภาพ ของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้จัดงบ 40 ล้านสร้างโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนคร หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท ก่อน มทร.อีสาน จะร่วมสร้างบุคลากรและบริหารในบริบทพื้นที่ พร้อมตอบรับในเรื่องนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และเชื่อว่า มทร.อีสาน จะมีความพร้อมทั้งสภาพดิน และอากาศในการปลูกสายพันธุ์หางกระรอก ที่มีสายพันธุ์ดั้งเดิมตั้งอยู่ที่เทือกเขาภูพาน บริเวณที่ตั้งของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร

“การปลูกกัญชาให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก ต้องอาศัยเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ไม่เพียงเฉพาะให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำ มองว่านายอนุทินต้องการให้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานรากนั้น ต้องอาศัยทุกภาคส่วน รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมบุคลากร การทำงานเป็นทีม โดยเอาฐานข้อมูลวิชาการเป็นตัวตั้ง ผนวกกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เชื่อว่าทำได้แน่ แต่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เอาเรื่องปริมาณเป็นตัวตั้ง เชื่อว่าไปไม่รอด ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะต้องเป็นหน่วยงานกลางในการบ่งบอกมาตรฐานกลางของผลิตภัณฑ์” ผศ.วิโรจน์กล่าว

Advertisement

ด้าน รศ.โฆษิตกล่าวว่า มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ขอนิรโทษกรรมครอบครองไว้กัญชาสายพันธุ์ไทยที่มีทั้งหมด ที่ปลูกในโรงเรือนระบบปิด ขนาด 800 ตารางเมตร (ตร.ม.) รวม 1,000 ต้น คาดจะได้ผลผลิตส่วนใบ และช่อดอก 2,000 กิโลกรัม (กก.) บางส่วนจะส่งมอบไปกับกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ตรวจสอบดีเอ็นเอ เพื่อตรวจระบุชนิดพันธุ์พืช และบางส่วนจะให้โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ปรุงตำรับยาไทยในเดือนตุลาคมนี้ โดยอนาคตตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์กัญชาไทย “หางกระรอก” ของประเทศ ซึ่งขณะนี้ต่างชาติได้ให้ความสนใจ และรอผลผลิตที่จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงวางเป้าภายใน 1 ปี จะสร้างความรู้และวางแผนการปลูกสายสายพันธุ์แท้หางกระรอก เป็นเมล็ดพันธุ์เพศเมีย เพื่อนำผลผลิตทั้งหมดมาใช้เป็นปรุงผลิตตำรับยาตั้งแต่ต้นน้ำยัจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่เริ่มพัฒนาการปลูกแบบออร์แกนิค และจะต่อยอดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้ได้เป็นมาตรฐานแบบเมดิคัล เกรด ส่วนการให้ได้สารบริสุทธิ์จากกัญชาร้อยละ 99 ตามที่ระบุไว้ในประกาศฉบับใหม่ มองว่าไม่ใช่เรื่องยาก

รศ.โฆษิตกล่าวว่า นอกจากนี้ จะเตรียมความพร้อมเป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์กัญชงของประเทศ ขณะที่ประชาชนในภาคอีสาน หากเข้าถึงในเรื่องการปลูกกัญชงได้ มทร.อีสานจะสร้างองค์ความรู้ให้แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงรพ.สต. และวิสาหกิจชุมชน ส่วนปลายน้ำจะอาศัยกรมวิทยาศาสตร์ฯ ในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันฐานข้อมูลในการผลิตเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ หากอาศัยความรู้ทางวิชาการ จะสามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์พรีเมียมจากสารสกัดซีบีดีในกัญชงและกัญชา

“ทั้งนี้ มีความพยายามขอเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลหลวงปู่แฟ๊บฯ ซึ่งปัจจุบันได้เตรียมความพร้อมแพทย์แผนไทย และอยู่ระหว่างหารือเพื่อขอขึ้นทะเบียนตำรับยาหมอพื้นบ้านเฉพาะราย ในสูตรตำรับพรหมพิทักษ์ สรรพคุณรักษาโรคมะเร็ง และน้ำกัญชาภูพาน สรรพคุณบำรุงร่างกาย และรักษาฝีในท้อง เพื่อใช้ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร” รศ.โฆษิตกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image