‘กองทุนสุขภาพตำบล’ เครื่องมือหนุนเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก

ตัวเลขเด็กปฐมวัยของประเทศไทยในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 7 แสนราย ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เผชิญกับปัญหาพัฒนาการไม่สมวัย-โภชนาการไม่เหมาะสม ซึ่งหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องจะส่งผลต่ออนาคตของตัวเด็กและประเทศชาติ โดยมีงานวิจัยระบุว่าเด็กที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยไม่ติดต่อโรคเรื้อรัง (NCDs)

ฉะนั้น การพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงนับเป็นต้นทุนมนุษย์ที่สำคัญ ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) ได้เปิดช่องให้ท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณจากกองทุนฯ ไปใช้เพื่อพัฒนา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กŽ ในพื้นที่ได้

เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.2561Ž ข้อ 10 ระบุว่า เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้ใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ โดยใน (3) ระบุว่า เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือศูนย์ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาและดูแลเด็กเล็กในชุมชน …Ž

Advertisement

การพูดคุยในหัวข้อ เด็กไทย พัฒนาการสมวัย ด้วยการใส่ใจของศูนย์เด็กŽ ซึ่งอยู่ภายในงาน มหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 12 ปี กปท. เดินหน้า พลังท้องถิ่นไทย รอบรู้ สร้างสุขภาพ อย่างยั่งยืนŽ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ชักชวนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กŽ ร่วมกัน

พญ.นนธวนัณท์ สุนทรา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉายภาพสถานการณ์เด็กปฐมวัยตอนหนึ่งว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าการคัดกรองพัฒนาการเด็กผ่านอุปกรณ์เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) พบว่าครอบคลุมการคัดกรองแล้วเกิน 90% ซึ่งยังพบปัญหาสำคัญของเด็กไทยคือการพัฒนาล่าช้า ปัญหาโภชนาการไม่เหมาะสม (เตี้ย อ้วน ผอม
ไม่สมวัย ไม่สมส่วน) และเด็กซีด ตลอดจนพบว่าเด็กปฐมวัยมีไอคิวโดยเฉลี่ยไม่ถึง 100

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สธ.ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันกับอีก 3 กระทรวง เพื่อพัฒนาเด็ก โดยได้ตั้งเป้าว่าในปี 2564 สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 70% ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ โดยมาตรฐานดังกล่าว จะดูใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ การบริหารจัดการ กระบวนการเลี้ยงดูเด็ก และคุณภาพ


Advertisement

“ทั่วประเทศมีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยถึง 5.3 หมื่นแห่ง กระจายอยู่ภายใต้การดูแลของ สธ. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และยังมีสถานเลี้ยงเด็กที่ไม่มีสังกัดซึ่งกระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครอีกราว 600 แห่ง ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ในการทำงานต่อไป”Ž ผอ.สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ ระบุ พร้อมทั้งกล่าวว่า หัวใจในการทำงานเรื่องเด็กคือการทำงานร่วมกับเครือข่าย และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นน่าจะเป็นคำตอบที่ดีในการพัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ

ทางด้าน นายวิศิษฐ ชูสง นายกเทศมนตรีตำบลโคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ได้แลกเปลี่ยนหลักคิดของ ต.โคกม่วง ตอนหนึ่งว่า แม้ว่าเทศบาลโคกม่วงเป็นพื้นที่ชนบท แต่ก็ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคนทุกเพศทุกวัย นั่นทำให้ถึงแม้ในบางท้องถิ่นจะไม่กล้าอนุมัติเงินไปใช้ในการพัฒนาเด็ก แต่ที่ อบต.โคกม่วง ยินดีอย่างยิ่งที่ได้อนุมัติ เพราะการส่งเสริมสุขภาพประชาชนจะนำมาสู่ความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่น โดยการสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น หลักการสำคัญคือ สถานที่ต้องปลอดภัย ห้องเรียนต้องสมบูรณ์ ครูต้องมีคุณภาพ และที่สำคัญคือ แม่ครัวต้องมีความเข้าใจเรื่องโภชนาการ

น.ส.สายพิณ โปชะตา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านเกาะทองสม อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ขยายความเพิ่มเติมว่า การทำงานในพื้นที่จะต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ รพ.สต. โดย อปท.มีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากร ทั้งคน เงิน ของ เพื่อให้กับ รพ.สต. และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำไปใช้ ขณะที่ รพ.สต.ก็จะมีหน้าที่ในการประเมินพัฒนาการเด็กเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็มีเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการเด็กด้วยเช่นกัน

“รพ.สต.จะประเมินตามช่วงอายุ หากพบเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าก็จะมีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครอง-ครูผู้ดูแลเด็กเพื่อให้คำแนะนำและกระตุ้น จากนั้นก็จะกลับไปประเมินใหม่ภายใน 30 วัน หากยังพบว่าล่าช้าอยู่ก็จะส่งต่อเด็กไปที่โรงพยาบาลระดับต่อไป ส่วนการติดตามเด็กจะใช้วิธีการเยี่ยมบ้าน ส่วนที่ศูนย์เด็กฯ ถ้าพบพัฒนาการล่าช้าก็จะประสานมายัง รพ.สต.”Ž น.ส.สายพิณอธิบาย

น.ส.สายพิณเล่าถึงโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก กปท.ว่า รพ.สต.ได้รับเงินจาก กปท.เพื่อตรวจพัฒนาการเด็ก โดยส่วนหนึ่งก็นำไปใช้สนับสนุนเครื่องมือ เครื่องชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ขณะที่เรื่องอาหารนั้น ต.โคกม่วง มีความโดดเด่นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยได้เข้าไปชักชวนเกษตรกรรวมตัวกันปลูกผักปลอดสารพิษ และมีกลไกการตรวจสอบความปลอดภัย รับรองมาตรฐาน ก่อนจะส่งให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

“เราจะวางโปรแกรมกันว่า แต่ละศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือโรงเรียน ในแต่ละสัปดาห์จะมีเมนูอาหารอะไรบ้าง ใช้ผักบุ้ง ผักคะน้า จำนวนเท่าไร จากนั้นเราก็จะแจ้งไปที่เกษตรกรให้ปลูกผักปลอดสารพิษ นอกจากนี้ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็ยังได้ทำกิจกรรมการเคลื่อนไหว การสร้างสรรค์ กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเสรี ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ กปท.มีส่วนสนับสนุนทั้งสิ้นŽ” น.ส.สายพิณระบุ

แน่นอนว่า ปัญหาเด็กปฐมวัยคงไม่ใช่เรื่องของ สธ.อย่างเดียว และ สธ.คงไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง วงพูดคุยในวันนี้สะท้อนว่า กปท.เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสนับสนุนให้พื้นที่ได้แก้ไขปัญหาของตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image