ก.แรงงานปิดจ๊อบ ‘เพิ่มผลิตภาพแรงงาน’ ปี’62 ดันมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 400 ล้าน

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติเรื่องสรุปผลการดำเนินงานโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ SME 4.0 (STEM Workforce towards SME ) ประจำปีงบประมาณ 2562 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและแสดงความยินดีแก่สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ 228 แห่ง โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และภาคเอกชน เข้าร่วม

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อปี 2560 พบว่า มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2,773,625 ราย ครอบคลุมการจ้างงาน 10,501,166 คน คิดเป็นมูลค่าที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ 5,212,004 ล้านบาท ดังนั้น การช่วยเหลือเอสเอ็มอีจึงเป็นประเด็นเร่งด่วน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความเข้มแข็ง จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยวิธีคิดวิเคราะห์เชิงระบบ เพื่อค้นหาสาเหตุข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน และประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยปี 2562 กระทรวงแรงงาน โดย กพร. ได้จัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรของ กพร.ที่ผ่านการฝึกอบรมกว่า 300 คน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเข้าไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มโอทอป และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งสิ้น 228 แห่ง สามารถพัฒนากำลังแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ จำนวน 15,000 คน คิดเป็นผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 36.48 ช่วยลดการสูญเสียในวงจรการผลิตหรือบริการ เฉลี่ยร้อยละ 46.47 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่า 400 ล้านบาท

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษากระบวนการผลิตและขั้นตอนในการทำงาน เพื่อหาจุดบกพร่อง หรือกระบวนการที่ส่งผลต่อต้นทุน แล้วนำมาวิเคราะห์หาวิธีการแก้ไข เป็นระยะเวลา 210 วัน พร้อมจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในสถานประกอบกิจการ ให้มีความรู้ในการวิเคราะห์งาน เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้รวมถึงสามารถนำความรู้ไปขยายผลในการทำงานแผนกอื่นๆ ต่อไปที่มีลักษณะของกระบวนงานที่ใกล้เคียงกันด้วยโครงการนี้ จึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของสถานประกอบกิจการได้ สามารถลดต้นทุน เพิ่มปริมาณการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าได้ เพื่อให้สามารถจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบกิจการและแก้ไขปัญหาได้จริง มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ พัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงาน และแก้ไขปัญหาร่วมกัน

Advertisement

ด้านนายสุชาติ กล่าวว่า ผลการดําเนินการโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานที่ผ่านมา 6 ปี (2556 – 2561) สามารถพัฒนาศักยภาพแรงงานได้ 85,482 คน ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะที่หลากหลาย (Multi Skills) หรือมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต เป็นมูลค่า 5,450 ล้านบาท และสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับสถานประกอบการไทย 1,103 แห่ง โดย กพร. ยังมีการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้เป็น “นักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่” เพื่อทำหน้าที่ให้คําปรึกษา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานแก่ผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น รวมทั้งเรียนรู้กระบวนการทํางานของที่ปรึกษาอย่างมืออาชีพอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image