“หมอธีระวัฒน์” หนุน “ร่างพ.ร.บ.ปลูกกัญชา-ตั้งองค์กรกลางกำกับดูแล” ชี้ครัวเรือนต้อง 10-12 ต้น

เมื่อวันที่ 8 กันยายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาได้อย่างเสรี และทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ภายหลังพรรคภูมิไทย (ภท.) ยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่… พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ. …ซึ่งจะยื่นขอความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 กันยายนนี้ ว่า ในฐานะนักวิชาการที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น สนับสนุนแนวคิดให้ปลูกกัญชาในครัวเรือน วัด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) รวมถึงสนับสนุนให้จัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับพืชกัญชง ไม่เห็นด้วยให้มีการปลูกในครัวเรือน เนื่องจากกัญชาและกัญชงมีความคล้ายคลึงกัน ทำให้แยกแยะพืชทั้งสองชนิดนี้ได้ยาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์วารสารจุลนิติ ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในคอลัมน์บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ ชื่อเรื่อง มุมมองใหม่ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ โดยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า คำว่า “เสรี” ตามแนวทางของคณะกรรมการสาธารณสุขหรือคณะกรรมการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. … ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่…) พ.ศ. … แล้วนั้น ไม่ได้หมายถึงการใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการ หรือใช้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่หมายถึงการใช้เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งการปลูกกัญชาได้อย่างเสรีเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ แบ่งออกได้เป็นหลายระดับด้วยกัน ได้แก่ 1.ความเสรีในการปลูกกัญชาในระดับครอบครัว แม้ว่าผู้ปลูกเองไม่ได้เจ็บป่วย แต่เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็สามารถปลูกและนำกัญชาภายในบ้านของตนเองในจำนวนที่พอเหมาะมาเพื่อใช้ในการรักษาได้ ซึ่งจำนวนที่พอเหมาะนั้น อาจจะไม่สามารถระบุได้ว่าต้องเป็น 4 ต้น หรือ 6 ต้น อย่างที่ต่างประเทศนิยมใช้กัน ด้วยเหตุที่ว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านไม่ได้ใช้เฉพาะดอกมาสกัด แต่ใช้ใบ ใช้ก้าน หรือใช้ดอกมาสกัดด้วย ฉะนั้น ในคนไข้บางคนที่ใช้สูตรตำรับของแพทย์แผนไทยโบราณซึ่งใช้ใบนำมาสกัด ทำให้อาจจะต้องปลูกถึง 10 – 12 ต้น เพราะต้องใช้ใบมาก แตกต่างจากการใช้ดอกเอามาสกัดเป็นน้ำมัน ซึ่งใช้ 4 ต้นก็เพียงพอแล้ว กรณีนี้คือความเสรีในระดับครอบครัว

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า 2.เสรีในการปลูก หรือสกัดกัญชาในระดับชุมชน มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การปลูกในบริเวณชุมชนที่สามารถควบคุมดูแลการปลูกและการนำไปใช้ได้ เช่น การปลูกในสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. ที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล หรือแพทย์ครอบครัวอยู่ตรงนั้นเพื่อควบคุมดูแล ทำให้การปลูก การสกัด และนำมาใช้ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง หรืออีกกรณีหนึ่งที่มีการคิดกัน คือ การปลูกที่วัด ขณะนี้มีวัดมากมายที่ปลูก และใช้ใบหรือดอกมาสกัด เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ดี ทั้ง รพ.สต. และวัดจะต้องมีความสามารถในการควบคุม ดูแล ทั้งการปลูก การสกัด และการนำไปใช้ โดยต้องอาศัยความเข้มแข็งร่วมมือร่วมใจของชุมชน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โดยจะต้องให้ความรู้แก่ อสม. และให้เป็นผู้ให้คำแนะนำในการใช้กัญชาอย่างถูกวิธีให้กับคนในหมู่บ้าน โดยมี อปพร. เป็นฝ่ายมหาดไทยเข้าไปควบคุมดูแลสอดส่อง ฉะนั้น อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปลูกเองในครัวเรือน แต่สามารถเอากัญชาที่ปลูกในชุมชนมาใช้ได้

“ส่วนจะทำให้กัญชากลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจได้หรือไม่นั้น มองว่าทำได้ แต่ต้องเป็นการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นระดับ Mass Production คือ เป็นการผลิตในปริมาณมาก โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้แรงงาน และทำให้ต้นทุนต่อหน่วยมีราคาถูกลง โดยการแบ่งการปลูกกัญชาออก เป็นการปลูกเพื่อใช้ในการรักษาตนเอง และการปลูกเพื่อรักษาผู้อื่นนั้นถือว่ามีความสำคัญมากในการที่ประชาชนคนไทยได้ใช้สิทธิของตนในการที่จะดูแลรักษาสุขภาพและชีวิตของตน โดยสิ่งสำคัญ ประชาชนมีสิทธิใช้กัญชาในรูปแบบที่คุ้นเคยคือ เมื่อเคี้ยวใบกัญชาแล้วหายปวดเมื่อยก็สามารถเคี้ยวได้ หรือปวดเข่า ปวดข้อ เป็นโรครูมาตอยด์ ก็สามารถที่จะทำน้ำมันกัญชาใช้เองได้ สิ่งนี้เป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงการได้รับความคุ้มครองจากรัฐ โดยการที่รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาตนเองได้ย่อมส่งผลทำให้รัฐได้ประโยชน์โดยการประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุข” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า สำหรับการปลูกในระดับภาคหรือประเทศนั้น ไม่ได้ปลูกไว้ใช้แต่เป็นการปลูกเพื่อนำไปให้โรงพยาบาล เพราะจากการคำนวณโรงพยาบาลต้องใช้กัญชาเดือนละไม่ต่ำกว่า 50-60 ตัน สังเกตได้จากการลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกัญชา เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของผู้ป่วยตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ทางอินเตอร์เน็ตมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้ามาประมาณ 1.4 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ไม่ใช่เด็กหรือเยาวชนที่จะนำกัญชามาเสพ จึงทำให้เห็นว่ามีความต้องการใช้กัญชาในปริมาณมาก โดยผู้ที่มีกัญชาในครอบครองอยู่แล้วประมาณ 4.4 หมื่นคน ซึ่งเป็นคนป่วยจริง และเมื่อมีความต้องการใช้กัญชาจำนวนมากขึ้น ทั้งจากโรงพยาบาล กรมการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก หรือหมอชาวบ้านที่มาขึ้นทะเบียนแล้ว จึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของกัญชงด้วย เพราะสามารถนำมาทำเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์

Advertisement

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดเสรีให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ ไม่ใช่ในทางนันทนาการ ซึ่งในต่างประเทศมีองค์กรกลางในการกำกับดูแล การใช้กัญชาตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนด ดังนั้น จึงเห็นว่าประเทศไทยก็ควรจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแล โดยเฉพาะการใช้กัญชาในทางการแพทย์และวิจัย ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ การเพาะปลูก การสกัด และกระบวนการภายหลังการสกัด ความรู้เหล่านี้จะช่วยรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยได้และสามารถส่งออกได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ได้มีตำราทางวิชาการระบุว่ากัญชามีคุณสมบัติเสริมฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื้องอกในสมอง เนื้องอกเต้านม มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ ได้อีกด้วย ดังนั้น หากจะผลิตกัญชาเพื่อการส่งออกก็สามารถขายได้ตั้งแต่เมล็ด ใบ ดอก น้ำมัน หรือแบบเป็นยาก็ได้ เป็นเศรษฐกิจทางการแพทย์หรือเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเราต้องนำเข้ามาจากลาว และเมียนมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image