รองอธิบดีกรมจัดหางานแจงขั้นตอนจ้าง ‘แรงงานต่างด้าว’ หลัง รง.สับปะรดโวยแบกภาระเยอะ

เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายสุวรรณ์ ดวงตา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรดขู่ปิดโรงงานในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากไม่พอใจที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างแรงงานต่างด้าว ที่มีค่าใช้จ่าย 1 หมื่นบาทต่อคน ทั้งๆ ที่เป็นกิจการที่ทำเพียงปีละ 9 เดือน และต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า ในการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้น ขณะนี้เป็นการดำเนินการในรูปแบบเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทย โดย กกจ.กับรัฐบาลของ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว นายจ้างที่ประสงค์จะนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานจะต้องแจ้งจำนวนที่ต้องการ และต้องจ้างในระยะเวลา 2 ปี ส่วนการได้มาซึ่งแรงงานนั้น จะใช้วิธีจัดหาเอง หรือผ่านบริษัทจัดหางานก็ได้ ซึ่งทั้งหมดจะมีการดำเนินการ อาทิ ค่าใบอนุญาต ค่าตรวจตราวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ ฯลฯ รวมแล้วไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อคน ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรดระบุว่ามีค่าใช้จ่ายหัวละ 1 หมื่นบาท ต้องถามว่าได้นำไปจ่ายในส่วนใดบ้าง ขอให้แจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน

นายสุวรรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อนายจ้างนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกิจการใดก็ตาม จะต้องจ้างแรงงานนั้นตลอดอายุสัญญาจ้างงาน คือ 2 ปี แต่หากนายจ้างรายใดจ้างไม่ครบ จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้แรงงานนั้นๆ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 75 ของเงินเดือนค่าจ้างที่ลูกจ้างต่างด้าวเคยได้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน ซึ่งในกรณีนี้ หากเจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบพบว่านายจ้างรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะถูกปรับตามฐานความผิด

“อย่างไรก็ตาม พบว่ากรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติเอ็มโอยูมักเกิดในกิจการภาคเกษตร เพราะผลผลิตส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวได้ตามฤดูกาล อย่างเช่น กรณีโรงงานแปรรูปสับปะรดที่ 1 ปี ทำงานได้เพียง 9 เดือน ส่วนอีก 3 เดือน ไม่มีงานให้ทำก็จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามกฎหมาย หรือไม่ก็ต้องปล่อยให้ลูกจ้างกลับประเทศต้นทาง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งออกจากราชอาณาจักร และไม่ต้องการจ่ายค่าจ้างในช่วง 3 เดือน ที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ล่าสุดทางการไทยจึงได้เจรจาร่วมกับทางการของ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ขอนำเข้าแรงงานแบบจ้างทำงานต่ำกว่า 2 ปี เพื่อเปิดช่องให้กับนายจ้างและแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งล่าสุดมีความเห็นร่วมกันที่จะเปิดลงนามเอ็มโอยูอีก 1 ฉบับ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่จะเตรียมทำเอ็มโอยู” นายสุวรรณ์กล่าว และว่า หากลงนามเอ็มโอยูนี้ได้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างได้อีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image