กรมพัฒนาแรงงานลงพื้นที่ ‘ระยอง’ จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ ปั้นคนคุณภาพหนุน ‘อีอีซี’

เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนภารกิจเพิ่มศักยภาพให้กำลังแรงงานในเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และจ.ฉะเชิงเทรา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด สอดคล้องกับแนวคิด Workforce transformation ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงาน รับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปรับปรุงและพัฒนาด้านแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้านแรงงานในพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นระบบ ด้วยการฝึกอบรม และเพิ่มทักษะในสาขาวิชาชีพเป้าหมายให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ (super worker) สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในพื้นที่อีอีซีในปี 2562 มีความต้องการด้านกำลังแรงงาน 28,809 คน มีแรงงานเข้าสู่ระบบ 29,629 คน ด้านการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานตั้งเป้าไว้ 7,580 คน ดำเนินการเสร็จสิ้น 9,177 คน ส่วนการดำเนินการฝึกโดยสถานประกอบกิจการ 575,361 ดำเนินการแล้ว 659,616 คน ขณะที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นศูนย์บริการมาตรฐานการศึกษาและวิจัยด้านเทคโนโลยีเป็นประตูทางออกด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 585,316 คน แยกเป็นการทำงานในภาคเกษตรกรรม 112,471 คน ผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม 472,845 คน โดยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 175,737 คน
โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง (สพร.17 ระยอง) ตั้งเป้าฝึกอบรมหลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงานเพิ่มเติมอีก 2,200 คน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 2,353 คน ใน 44 สาขา จำแนกเป็น หลักสูตรที่รองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 กลุ่มอุตสาหกรรม 1,686 คน 77 รุ่น 36 สาขา และหลักสูตร Soft Skill จำนวน 667 คน 24 รุ่น 8 สาขา นอกจากนี้ ยังจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ภาคตะวันออก (E-MARA) ดำเนินการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมาย 3,880 คน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 บูรณาการความร่วมมือกับอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่อีอีซีในการดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 6 แห่ง เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

Advertisement

ด้านนายสุรพล สุทธจินดา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ก็เป็นอีกหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนโครงการอีอีซีมาโดยตลอด โดยเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 4 คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการรับรู้การประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง ด้านการพัฒนา และเชื่อมโยงเศรษฐกิจรายสาขา (เกษตร ท่องเที่ยวและบริการ) เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของจังหวัด จัดทำโครงการยกระดับบุคลากรภาคอุตสาหกรรมร่วมกับสพร.17 ระยอง ภาคเอกชน สถาบันการศึกษากำหนดหลักสูตรฝึกอบรมแรงงานใน 25 หลักสูตร อาทิ หลักสูตร เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร การตรวจสอบงานเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ เทคนิคการสอนงาน ก้าวทันกฎหมายสิ่งแวดล้อม การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (TPM :Autonomous Maintenance) การฝึกอบรมด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เป็นต้น ปัจจุบันดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 20 หลักสูตร และในปี 2563 จะมีการพิจารณาการจัดทำหลักสูตรที่รองรับเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและหลักสูตรที่เกี่ยวกับการ Reskill ให้กับพนักงานในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาอุตสาหกรรมมีส่วนผลักดันในการจัดทำโครงการพัฒนาแรงงานใน จ.ระยอง เนื่องจากเป็นคณะทำงานในอีกหลายโครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image