สธ.ติดตามสถานการณ์ ‘หัด’ แนะ ‘พ่อแม่’ พาลูกฉีดวัคซีน

วันที่ 11 กันยายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ว่า สธ.ให้ความสำคัญในโครงการเร่งรัดกำจัดโรคหัดของประเทศไทยตามพันธสัญญานานาชาติ ปี 2562-2565 จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม มีผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561

“ปีนี้ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหัด 364,808 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ มาดากัสการ์ 127,464 ราย ยูเครน 54,246 ราย ฟิลิปปินส์ 36,253 ราย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 สิงหาคม พบผู้ป่วยโรคหัด 4,435 ราย เสียชีวิต 14 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นราธิวาส ปัตตานี เพชรบุรี เชียงใหม่ และตาก” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการคือ ไข้ออกผื่น โดยมักมีไข้สูง 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วกระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นกระจายทั่วตัว 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นจะค่อยๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุย หรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 95 ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของ สธ. จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image