สธ.ดึงภาคีขยายเครือข่าย ‘พระคิลานุปัฏฐาก’ ดูแลสุขภาพสงฆ์ แนะฆราวาสถวาย ‘น้ำพริกผักต้ม’ ลดเจ็บป่วย-อ้วน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร (กทม.) นายธนิตพล ไชยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สานพลัง เชื่อมปัญญา พัฒนาสุขภาพพระสงฆ์” เพื่อทบทวนบทเรียนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก ทบทวน และร่วมกำหนดทิศทางให้เป็นไปตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย พร้อมแถลงข่าว “การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ไทย” ร่วมกับคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสุขสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมการศาสนา โดยมี พระสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณระดับชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และนายสาโรจน์ กาลศิริศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ร่วมงาน

นายธนิตพล กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของสุขภาพพระสงฆ์ สอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มติที่ 191/2560 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ให้มีการขับเคลื่อนงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เนื่องจากกลุ่มที่ต้องการการช่วยเหลือให้คำแนะนำด้านสุขภาวะ และเข้าถึงได้ยาก คือ กลุ่มพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากพระธรรมวินัย และกิจวัตรพระสงฆ์ จึงได้ประชุมหารือ เพื่อหารือในการสร้างความเข้าใจในรูปแบบภาวะศาสนา จนสามารถสร้างพระคิลานุปัฏฐาก ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ด้วยกันเอง พร้อมวันนี้ได้มอบเกียรติบัตรพระสงฆ์บัตรให้แก่พระสงฆ์ 8 รูป และจะขยายผลต่อเนื่อง โดยกลุ่มพระสงฆ์เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลสุขภาพมากที่สุด โดยจากการตรวจคัดกรองสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศ ปี 2559 รวม 122,680 ราย พบพระสงฆ์เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และภาวะน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อให้เกิดโรคมาจากการสูบบุหรี่ กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบริโภคอาหารไม่เหมาะสม จะต้องได้รับคำแนะนำเพื่อให้ได้ฉันอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และในสัดส่วนที่เหมาะสม รวมถึงให้ความรู้ฆราวาสที่นำอาหารมาถวายให้หลีกเลี่ยงอาหารลดหวาน มัน เค็ม และถวายอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งต้องรับว่าอาจมีรสชาติไม่ถูกปาก แต่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับการขอความร่วมมือร้านค้าที่จำหน่ายอาหารสำหรับถวายพระบิณฑบาต

Advertisement

นายธนิตพล กล่าวว่า สำหรับการทำงานที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพในการดูแลพระสงฆ์ เพราะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่สามารถดำเนินการได้ตามคนทั่วไป เช่น การออกกำลังกาย อีกทั้งสร้างเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา และพัฒนาหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) เป็นแกนนำดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ด้วยกันเอง และจัดสิ่งแวดล้อมภายในวัดให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เกิดการเชื่อมโยงวัดกับชุมชน ทำให้ปัจจุบันมีวัดที่ผ่านเกณฑ์ประเมินวัดส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 4,191 วัด และพระคิลานุปัฏฐาก จำนวน 3,945 รูป

“ส่วนการจัดเมนูสุขภาพของพระสงฆ์ ขณะนี้ สสส.เตรียมมอบชุดคู่มือ ซึ่งเป็นชุดความรู้โภชนาการเหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ ภายใต้โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค จำนวน 2 หมื่นชุด ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ โดยอยากแนะนำเมนูสุขภาพที่ดีที่สุด อร่อยและอาหารครบรส อาทิ เมนูน้ำพริกผักต้ม เป็นเมนูที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคต่างๆ” นายธนิตพล กล่าว

Advertisement

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ พบจากฐานข้อมูลพระสงฆ์ ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีพระสงฆ์ที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 152,283 รูป ตรวจสอบสิทธิ์แล้วเป็นผู้ถือบัตรหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) 126,461 รูป โดยข้อมูลการเข้ารับบริการผู้ป่วยของพระสงฆ์และสามเณรปี 2561 ได้ใช้สิทธิบัตรทอง 5 อันดับโรคแรก ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2,956 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2560 2,653 ครั้ง โรคท้องร่วง กระเพาะ/ลำไส้อักเสบ 1,381 ครั้งจาก 1,315 ครั้ง โรคปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบ 1,323 ครั้งจาก 1,207 ครั้ง โรคเบาหวาน (Types ll) 1,204 ครั้งจาก 1,063 ครั้ง และโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ 1,106 ครั้ง จาก 1,012 ครั้ง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image