สสจ.เชียงรายวอนประชาชนอย่าตื่น “อหิวาต์หมู” ยัน ไม่ติดสู่คน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวเกิดโรคระบาดในสุกร ซึ่งคาดว่าจะเป็นการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Africa Swine Fever) ซึ่งได้แพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย จนสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่หมูเลี้ยงไว้ในเล้าทยอยตายจำนวนมาก ว่า สำหรับการตรวจสอบและสืบสวนโรค อยู่ในอำนาจของปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ซึ่งพื้นที่ จ.เชียงรายเป็นหนึ่งในพื้นที่เฝ้าระวัง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ตั้งศูนย์วอร์รูมติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ปศุสัตว์จังหวัดและด่านกักกันสัตว์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นพ.ทศเทพ กล่าวว่า ขออย่าตื่นตระหนกโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพราะไม่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ แต่จะติดต่อกันเฉพาะในหมูเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุให้กรมปศุสัตว์ ต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าควบคุมโรค โดยการฆ่าเชื้อและทำลายสุกรติดเชื้อทันที ไม่เช่นนั้นจะเกิดการติดต่อในหมู และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อระบบปศุสัตว์และเชิงเศรษฐกิจ

Advertisement

“หมูป่วยก็ควรทำลายทันที ไม่ควรนำมาชำแหละเพื่อรับประทานต่อ แม้จะรับประทานเข้าไปแล้วไม่ติดต่อสู่คนก็ตาม” นพ.ทศเทพ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคที่เกิดจากดีเอ็นเอไวรัส ปัจจุบันพบการระบาดมากในแถบประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา รวมทั้งจีนและมองโกเลีย ถึงแม้โรคนี้จะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่ประชาชนไม่ควรกินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อก่อโรคติดต่อทางอาหารและน้ำชนิดต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคไข้หูดับ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หากไม่แน่ใจแหล่งที่มา ควรนำเนื้อหมูไปผ่านการปรุงสุกก่อนรับประทานทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ที่อาจแฝงมากับเนื้อหมูได้ และควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหาร ก่อน-หลังการเตรียมอาหาร และหลังขับถ่าย ในส่วนของเกษตรกรเลี้ยงสุกร ขอให้ติดตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ในเรื่องของการเลี้ยงสุกรปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และหากเกษตรกรมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการโรคต่างๆ ในคน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image