‘จุติ’ มอบนโยบายพัฒนาสังคม ชี้ พม.ต้องทำงานเร็ว-ใช้เทคโนโลยีได้-มีผลงาน

‘จุติ’ มอบ 3 นโยบายหลักพัฒนาสังคม “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ชี้ พม.ต้องทำงานเร็ว-ใช้เทคโนโลยีได้-มีผลงานจริง

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 17 กันยายน ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน พม.โดยมีผู้บริหาร พม.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ตลอดจนข้าราชการสังกัดกระทรวง พม.เข้าร่วมรับฟังกว่า 550 คน ว่า การมอบนโยบายวันนี้คือ การบอกถึงความความหวังและนโยบายเร่งด่วนของตน โดยเฉพาะการทำกระทรวง พม.ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชน ตั้งแต่การลงพื้นที่แก้ปัญหาสังคมอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้ตกเป็นข่าวหรือจำเลยของสังคมก่อนถึงเข้าช่วยเหลือ หรือเมื่อได้ทำอะไรที่เป็นการพัฒนาสังคมที่ประสบผลสำเร็จแล้ว ก็ให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ เพราะที่ผ่านมาพบลักษณะหน่วยงานในสังกัดพม. ทำดีแล้วเงียบ สังคมก็ไม่ค่อยรู้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เน้นย้ำในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เห็นภาพก่อนและหลัง เพื่อให้เกิดภาพว่าประเทศไทยดีขึ้นทุกวัน

นายจุติกล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2563 จะเป็นปีแห่งการพัฒนาศักยภาพ พม. โดยเฉพาะทักษะทางภาษาอังกฤษ และทักษะทางคอมพิวเตอร์ ที่เจ้าหน้าที่ พม.ทุกระดับต้องมี ซึ่งตนจะเอ็มโอยูกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอบรมและพัฒนาให้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มีผลงานออกมาดี อีกทั้งตอบรับกับการทำงานบนฐานข้อมูลสารสนเทศด้านสังคมที่จะพัฒนาขึ้น ทั้งนี้ ฝากให้หน่วยงานทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆให้มีความทันสมัย โดยเฉพาะระเบียบจ่ายเงินสงเคราะห์ที่พบว่าปัจจุบันมีถึง 17 ขั้นตอนกว่าจะเบิกจ่ายช่วยคนได้ 1 คน ทำอย่างไรจะลดขั้นตอน แต่ยังดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลและตรวจสอบได้

“อีกสิ่งสำคัญที่ผมกำลังต่อสู้ให้กระทรวง พม.คือ การถูกจัดเกรดเป็นกระทรวงเทียร์ 3 หรือกระทรวงเกรดต่ำสุดในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณและอัตรากำลัง ว่าหากยังเป็นแบบนี้ก็จะได้คนทำงานและสภาพสังคมแบบเทียร์ 3 หรือคำแรงๆว่าสังคมสวะอย่างนี้ ผมยังฝากท่านนายกฯเมื่อเช้าขอให้ทบทวน พม.ควรอยู่เทียร์ 3 หรือไม่ ฉะนั้นก็ฝากชาว พม.ได้ทำงานเกิน 100 เพื่อพิสูจน์ผลงานว่าเราก็มีดีจริงๆ ซึ่งผมจะนำผลงานเหล่านี้ไปต่อสู้ใน กมธ.งบประมาณปี 2563ให้” นายจุติกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ พม.นั้น นายจุติได้แจกเป็นเอกสารซึ่งมี 3 ข้อใหญ่ ดังนี้ 1.เข้าใจพื้นที่ อาทิ การมีข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาในระดับพื้นที่ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อการค้นหาและการดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง การพัฒนาทีม พม. วันโฮม และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ การพัฒนาอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) พร้อมระบบข้อมูลสารสนเทศ (ไอที) สำหรับแอพพลิเคชั่น อพม. เป็นต้น

2.เข้าถึงปัญหา ได้แก่ ด้านเด็กและเยาวชน อาทิ การขับเคลื่อนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด, โครงการส่งเสริมศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน มากกว่า 53,332 แห่ง, การเตรียมเด็กและเยาวชนพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21, การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, การสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับทั่วประเทศ 8,779 แห่ง, การทบทวน ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นต้น

ด้านสตรีและครอบครัว อาทิ การยกระดับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) การจัดทำคลังข้อมูลสารสนเทศด้านครอบครัวแห่งชาติ (แฟมิลี่บิ๊กดาต้า) การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

Advertisement

ด้านคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ อาทิ การเร่งรัดการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติ “สังคมสูงอายุ”, การสร้างศูนย์ข้อมูลกลางด้านผู้สูงอายุ, การขยายธนาคารเวลาใน 84 พื้นที่ 48 จังหวัด, การขยายพื้นที่การจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เพื่อส่งเสริมการมีอาชีพและรายได้ของผู้สูงอายุ และการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อาทิ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ, การพัฒนาระบบการให้บริการคนพิการ

และด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง, โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านมั่นคง, โครงการบ้านพอเพียงชนบท และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร

3.พัฒนาองค์กร อาทิ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร พม. ให้เป็นมืออาชีพที่พร้อมให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชน และมีความรู้ ความเข้าใจเท่าทันโลกศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาบิ๊กดาต้าและข้อมูลสถานการณ์ทางสังคม เพื่อวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์ทางสังคมและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งในระดับพื้นที่และประเทศ การพัฒนาศักยภาพศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และ ทีม พม. วันโฮมทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การแต่งตั้งโฆษกประจำสำนักงาน พมจ.ทั่วประเทศ การพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์กระทรวง พม. เพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการสังคม และการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อปฏิบัติต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image