นานาทรรศนะ ‘แพทย์แผนไทย-แพทย์ทางเลือก’ กับความท้าทายในระบบ ‘บัตรทอง’

ประเทศไทยมีทรัพย์ในแผ่นดิน มีสินในผืนน้ำ และหลากหลายไปด้วยภูมิปัญญาไม่ต่ำกว่า 1,800 ชนิด จากทั้งหมดกว่า 2 หมื่นชนิด คือจำนวนพืชพันธุ์ในประเทศไทยที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้าน “สมุนไพร” สะท้อนถึงความหลากหลายและสรรพคุณอันครอบคลุมโดยการรังสรรค์ของธรรมชาติ

นอกจากความล้ำค่าของสมุนไพร ประเทศไทยยังมี “การแพทย์แผนไทย-การแพทย์พื้นบ้าน” ที่สืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

“การแพทย์แผนไทย” และ “การแพทย์ทางเลือก” จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ถูกพูดถึงบนเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ผ่านเวที เสวนาหัวข้อ “ความท้าทายการบริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 แต่ก็ยังมีความท้าทายจำนวนมากที่เกิดขึ้นกับระบบ หากว่าเฉพาะในมิติของแพทย์แผนไทย-แพทย์ทางเลือกแล้ว วีรพงษ์ เกรียงสินยศ มูลนิธิสุขภาพไทย ได้จำแนกออกมาเป็นรายประเด็น เพื่อเรียนรู้และหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน

Advertisement

สำหรับความท้าทายมีด้วยกัน 6 ประเด็น ประการแรกที่ “วีรพงษ์” มองคือ สถานการณ์ของพืชที่ยังถูกจัดให้เป็นยาเสพติดแต่กลับมีประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น กัญชง กัญชา กระท่อม นั้นจะถูกนำมาใช้ในระบบบริการสุขภาพอย่างไร

“ความท้าทายแรกของการแพทย์แผนไทยจึงพุ่งตรงไปยังระบบบริการว่าจะเคลื่อนตัวอย่างไร เนื่องด้วยความมุ่งมั่นพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะทำให้เกิดการจ่ายยาในระบบของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 12 เขต ให้เริ่มจ่ายจากสารสกัดกัญชา แต่จะจ่ายอย่างไรยังมีเรื่องของระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาในการเข้าสู่บัญชียาหลัก หรือในแง่การจ่ายยาของผู้ประกอบวิชาชีพเอง ที่เป็นความท้าทายด้วยเช่นเดียวกัน”

Advertisement

ความท้าทายถัดมา คือการเสนอชุดสิทธิประโยชน์ก่อนคลอดในระบบบัตรทอง โดยการให้มารดาก่อนคลอดที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 5-7 เดือน และ 7-9 เดือน มีชุดสิทธิประโยชน์บางอย่างในการดูแล ซึ่งภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยนั้นสามารถดูแลสุขภาพของมารดาได้ดีในภาวะตั้งครรภ์ ปัจจุบันบัตรทองให้สิทธิประโยชน์เรื่องการดูแลสตรีหลังคลอด แต่ก่อนคลอดยังเป็นความท้าทาย

ความท้าทายที่สาม คือกลุ่มหัตถการ เช่น การพอกยา หรือพอกเข่า ซึ่งมีการพูดกันเยอะโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่เป็นเกี่ยวกับกระดูก โดยจะทำอย่างไรให้หัตถการ การพอกยา และอื่นๆ บรรจุเข้าไปในระบบเพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้รับบริการ เพราะแม้ว่าขณะนี้จะมีการปฏิบัติการหรือดูแลรักษาด้วยวิธีนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังเข้าในระบบไม่ได้ และผู้รับบริการอาจจะต้องจ่ายเงินเอง

ความท้าทายที่สี่ คือภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพื้นฐานในการปรุงยาเป็นตำรับ ซึ่งการจ่ายยาเป็นตำรับนั้นมิได้อยู่ในช่วงสุญญากาศ เพราะปัจจุบันกองทุนหรือสวัสดิการข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้ โดยเฉพาะที่คลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ที่มีการจ่ายยาที่ปรุงยาเป็นตำรับเฉพาะรายได้ แต่เป็นความท้าทายว่าการจะจัดยาที่ปรุงเฉพาะรายเหล่านี้ให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองอย่างไร

ความท้าทายที่ห้า คือการให้กองทุนสุขภาพไม่ว่าจะเป็น กองทุนสุขภาพตำบล กองทุนของ สปสช. หรือกองทุนอื่นๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการกำหนดนโยบายในช่วง 3 ปีนี้ ให้สัดส่วนของกองทุน 10-15% มุ่งเน้นไปสู่การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันฟื้นฟู และทำงานโดยใช้การแพทย์แผนไทย เป็นการมองเชิงยุทธศาสตร์บางอย่าง เพื่อทำให้การแพทย์แผนไทยมีการเคลื่อนตัวในระบบชุมชน

ความท้าทายสุดท้าย เขามองว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของ สปสช. เป็นนวัตกรรมที่สำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้การรับฟังความเห็นสามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ ในการรับไปปฏิบัติหรือร่วมมือกัน เพราะความเห็นที่มาจากเสียงผู้ให้บริการและผู้รับบริการด้านสาธารณสุข แม้จะได้ประโยชน์มากแต่บางเรื่องเกินอำนาจหน้าที่ของ สปสช. จึงฝากให้การรับฟังความคิดเห็นมีเรื่องราวที่มากกว่านั้น เช่น สธ.เป็นเวทีกลางในการนำสิ่งเหล่านี้ไปจัดให้เกิดระบบและกลไกในการเคลื่อนต่อ

ในมุมมองของ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายคือ เราจะรักษา ต่อยอด และนำศาสตร์การแพทย์แผนไทยมาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับคนไทย ในด้านของการรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูให้สุขภาพร่างกายจิตใจดีขึ้นมาอย่างไร

“หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการเลือกใช้แพทย์แผนไทย คือเงินที่จะหมุนเวียนอยู่รายรอบ เพราะทั้งหมดที่การแพทย์แผนไทยใช้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา การรักษา สมุนไพร หัตถการต่างๆ เกือบ 100% ทำโดยคนไทยทั้งสิ้น” นพ.มรุตกล่าว และว่า ปัญหาของยาแผนไทยเมื่อเข้ามาสู่ระบบการรักษา คือราคาที่แพงกว่ายารักษาในโรคเดียวกัน เนื่องด้วยขนาดการผลิตที่ยังไม่มากพอ จึงทำให้ต้นทุนที่จะมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมของโรงพยาบาลยังแพงกว่า จึงเป็นอีกส่วนท้าทายว่าเราจะนำกลับมาใช้ในระบบการรักษาพยาบาลของประเทศได้อย่างไร

นอกจากนี้ นพ.มรุตระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการผลักดันให้ สปสช.มีงบประมาณในการสนับสนุนให้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยใช้ในระบบการรักษาพยาบาล และมีการเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยเริ่มต้นจาก 0.50 บาทต่อหัวต่อคน หรือราว 20 ล้านบาทในปี 2550 มาอยู่ที่ 11.61 บาท หรือกว่า 560 ล้านบาท ในปี 2562 และในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 14.80 บาท หรือ 714 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยรับใช้ประชาชนได้มากขึ้น

“หลายประเทศเขาพัฒนาศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมจนก้าวไกลกว่าของไทยเยอะ เห็นได้ชัดคือจีน ที่มีการสนับสนุนวิจัยโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถหาได้ว่าสารตั้งต้นของสมุนไพรที่เอามามีหรือไม่มีเท่าไร ผลิตออกมาเป็นยาแล้วมีสารสำคัญมากน้อยเพียงใด ที่น่าตกใจคือ บางมหาวิทยาลัยมีเครื่องมือวิจัยนี้อยู่ 30 เครื่อง หรือบางบริษัทยาเอกชนมี 50 เครื่อง แต่ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีแค่ 2 เครื่อง” นพ.มรุตระบุ

สำหรับข้อเสนอเพื่อความงอกงามของศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิม 1.จะต้องมีนโยบายและการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งในแง่ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณอย่างจริงจัง 2.ส่วนราชการอื่นๆ นอกเหนือจาก สธ. ต้องก้าวเข้ามามีส่วนร่วม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนเรื่องการปลูกสมุนไพร กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนการนำมาผลิต กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนในส่วนกลไกการซื้อขาย กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนเมืองสมุนไพรต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยมีแล้ว 3+1 เมืองสมุนไพร 3.มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมวิจัยและพัฒนา ซึ่งไทยยังมีน้อย และ 4.ภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมในการผลิตยาสมุนไพร ซึ่งการที่บริษัทยาเริ่มหันมาผลิตมากขึ้น มีการโฆษณามากขึ้น มีส่วนทำให้ประชาชนรู้จักยาสมุนไพรเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นที่รู้จัก เชื่อมั่น และชอบใช้ สุดท้ายก็จะมีคนหันมาหาศาสตร์การแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้น

ด้าน พระอาจารย์ปพนพัชร์ จิรธัมโม (ภิบาลพักตร์นิธ์) อโรคยาศาล วัดคำประมง จ.สกลนคร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของอโรคยาศาลที่ดำเนินการรักษามะเร็งให้ผู้ป่วยฟรีว่า ทำมาเป็นเวลากว่า 15 ปี รักษาคนไข้แล้วประมาณ 5,900 ราย และใช้งบประมาณดูแลปีละกว่า 10 ล้านบาท ด้วยการรักษาที่เน้น Palliative care กับ Herbal medicine ซึ่งทำงานร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ

พระอาจารย์ปพนพัชร์บอกว่า ภายในวัดคำประมงมีพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบที่เป็นป่าสมุนไพร ใช้งบประมาณในการทำเรือนเพาะปลูก อนุบาลดูแล โดยที่ไม่ได้พึ่งพาจากรัฐบาล และการใช้แพทย์แผนไทยเหล่านี้ พบว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายรอดตายเพิ่มขึ้น 10-12% และมีชีวิตอยู่แข็งแรง 8-9 ปีต่อมาได้ ด้วยค่าใช้จ่ายยาไทยที่ยังต่ำกว่าเคมีบำบัด

“การดูแลผู้ป่วยนั้น อย่าไปคิดว่าจะต้องให้ยาเพียงอย่างเดียว แม้ยาจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ต้องให้หัวใจ ให้ธรรมะ ให้จิตวิญญาณเขาด้วย เพราะถ้ามีแต่ยา ขาดธรรมะและหัวใจ วันหนึ่งความเครียดก็จะเพิ่มโรค ทำให้มะเร็งกระจาย แต่ถ้าจิตสงบ มะเร็งก็จะสงบ จิตใจก็จะสบายด้วย จึงเป็นโจทย์ให้ย้อนกลับมาดูการรักษาปัจจุบันว่ามันจะเกินขนานไปหรือไม่ จะยัดแต่เคมี ฉายแสงให้ผู้ป่วยอย่างเดียว เป็นส่วนที่ทำให้คนไข้หนีจากโรงพยาบาลมาหาหลวงตาทั้งสิ้น” พระอาจารย์ปพนพัชร์ระบุ

พระอาจารย์ท่านนี้ระบุว่า วัดใช้แพทย์แผนไทยผสมจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ และไม่ได้หวังผลตอบแทน สนใจเพียงทำให้ชีวิตมนุษย์อยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพที่สุด แต่ถ้าตายก็ต้องตายอย่างมีความสุข ไม่ทุกข์ทรมาน ไม่ต้องมีเครื่องสายระโยงระยางที่แขนขารอบตัว ให้เขาค่อยๆ จากไปพร้อมกับเสียงสวดมนต์ ผ่อนคลาย หลับไปอย่างสบายในมะเร็งระยะสุดท้าย เพราะหลักการของศาสนาพุทธคือ ทำอย่างไรให้ชีวิตคนเราจากไปอย่างสงบโดยไม่มีความทุกข์ทรมาน อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นจุดอ่อนคือ ความมั่ว ไม่มีมาตรฐาน เป็นโอกาสให้หมอที่โลภมั่วได้ ดังนั้นในการสอนนักเรียนแพทย์ จะสอนเฉพาะวิชาการไม่ได้ แต่ต้องสอนให้มีคุณธรรมด้วย เพราะถ้าหากไม่มีคุณธรรม ก็จะนำความรู้ไปหาประโยชน์จากคนไข้

ในส่วนของ นพ.พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการ รพ.ศูนย์ราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวเสริมในเรื่องของความท้าทายที่ทำให้หมอหรือพยาบาลไม่อยากใช้ยาแผนไทยว่า เนื่องจากความไม่เข้าใจในตัวยา รวมถึงเกิดความมั่ว อีกทั้งมีราคาที่แพงกว่า ดังนั้นจะทำอย่างไรให้หมอที่รักษาคนไข้ในปัจจุบันเข้าถึงและเข้าใจยา โดยอาจต้องผลักดันให้เข้าสู่หลักสูตรการแพทย์ และควรมีการวิจัยที่ทำให้ปรับใช้ลงระบบได้

เขายังทิ้งท้ายถึงความท้าทายอื่นๆ เช่น การทำให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เรื่องของอัตรากำลังของแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลใหญ่ที่ยังน้อยอยู่หากเทียบกับขนาด หรือเรื่องของการวิจัยต่างๆ ที่ต้องมีให้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image