อย.เผย ‘ยาเสียสาว’ ส่วนใหญ่เป็นจีเอชบี-อัลปราโซแลม ส่วนน้ำลายฟูมปากต้องเช็กเกิดจากสารใด

จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ “ลันลาเบล” พริตตี้สาวสวย บนโซฟาล็อบบี้คอนโดมิเนียมใกล้สถานีบีทีเอสตลาดพลู หลังไปรับจ้างดูแลเครื่องดื่มในงานเลี้ยงฉลองย่านบางบัวทอง โดยมี นายรัชเดช วงศ์ทะบุตร อายุ 24 ปี หรือ น้ำอุ่น พริตตี้บอย เป็นผู้ต้องสงสัย และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า อาจมีการใช้ยาเสียสาวหรือไม่

วันที่ 20 กันยายน ภก.วชิระ อำพนธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงเรื่องยาเสียสาว ว่า โดยปกติแล้วยาเสียสาวที่มักพบว่า นำมาใช้มอมให้คนไม่รู้สึกตัว จะพบอยู่ 2 ตัว คือ อัลปราโซ แลม และจีเอชบี (GHB) ซึ่งอาการส่วนใหญ่ จะทำให้มึนงง และกดให้รู้สึกง่วงทั้งคู่ ที่สำคัญ คือ พวกนี้ออกฤทธิ์เร็ว หลักวิชาการของยาออกฤทธิ์เร็วใน 30 นาที ทำให้สะลึมสะลือแล้วหลับไป เมื่อตื่นขึ้นมาก็จำอะไรไม่ได้ จึงมักเห็นว่าผู้เสียหายที่ไปโดนยามา บางครั้งตื่นมาให้การตำรวจไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง เพราะความจำช่วงก่อนหน้าที่กินมาหายไป คล้ายคนเมาเหล้าที่บางทีจะจำไม่ได้

“อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ต้องพิสูจน์ว่า ใช้ยาตัวไหน เพราะจริงๆ แล้ว จีเอชบีค่อนข้างหายาก แต่ที่ว่าหาง่ายใช้กันในงานปาร์ตี้ คิดว่าอาจสั่งซื้อมาจากนอกหรือไม่ ส่วนเมื่อก่อนยังมียาดอมิคุมแต่หายไป เพราะหายาก จึงมีการหันมาใช้อัลปราโซแลมแทน เพราะก่อนหน้านี้หาง่าย แต่พอใช้กันมากๆ อย.จึงปรับมาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 แต่ก็ยังมีของลอบนำเข้ามา” ภก.วชิระ กล่าว

ภก.วชิระ กล่าวว่า สำหรับกรณีทิงเจอร์ขาวที่พูดกันนั้น เป็นยาที่ใช้กับสัตว์ใหญ่ ในทางการแพทย์กับมนุษย์ไม่มีการใช้ ส่วนการลอบมาใช้มอมคนนั้น เท่าที่ตรวจสอบก็ไม่เคยพบ มีแต่ที่พูดคุยกันเท่านั้น เพราะจากหลักฐานที่เก็บได้หรือผลตรวจร่างกายก็ไม่เคนเจอยาตัวนี้ หากจำกันได้กรณีตำรวจที่ถูกสาวประเภทสองมอมจนเสียชีวิตก็เป็นกลุ่มยานอนหลับเช่นกัน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้ยาร่วมกับเครื่องดื่มมึนเมาทำให้แรงขึ้นหรือไม่ ภก.วชิระ กล่าวว่า ฤทธิ์ไม่ได้แรงขึ้น แต่อาจเสริมกัน เพราะแอลกอฮอล์กินแล้วกดประสาท ถ้ากินยาพวกนี้เข้าไป ก็อาจทำให้หลับเร็วขึ้น ก็คล้ายเสริมฤทธิ์กัน ซึ่งยาที่เอามาใส่แอลกอฮอล์รสชาติจะไม่ทราบ เพราะกลบเกลื่อนกันได้ และส่วนใหญ่อยู่ในสถานที่ที่จะแอบใส่ได้ง่าย

เมื่อถามถึงกรณีน้ำลายฟูมปาก ภก.วชิระ กล่าวว่า ก็เป็นได้จากฤทธิ์ของยา แต่เราไม่รู้ว่ายาตัวไหน เพราะถ้าใช้ยาปริมาณสูงก็มีอาการอยู่แล้วน้ำลายฟูมปาก อย่างยาฆ่าแมลง ยาฆ่าตัวตาย แต่ส่วนใหญ่ยาที่เราใช้รักษาโรคกันจะไม่ค่อยมีอาการนี้ จึงยังไม่รู้โดนอะไรกันแน่ ต้องดูสาเหตุ

ต่อข้อถามถึงยานอนหลับตัวอื่น เช่น ไดอะซีแพม มีปัญหาหรือไม่ ภก.วชิระ กล่าวว่า ไดอะซีแพมไม่มีปัญหา เพราะต้องใช้จำนวนมาก เป็น 10 เม็ด แต่พวกนี้ 1-2 เม็ด ก็เห็นผล เพราะการแอบใส่ต้องใส่นิดเดียว

Advertisement

เมื่อถามถึงเรื่องการป้ายยา ภก.วชิระ กล่าวว่า ตามหลักวิชาการ ยาป้ายจะต้องผ่านชั้นผิวหนัง มีการดูดซึม ซึ่งทางเภสัชกรรม ยาป้ายไม่ทำให้นอนหลับหรือสลบ นอกจากกิน สูด หรือฉีดเข้าร่างกาย ยาป้ายเป็นอะไรที่ไม่เคยเจอ ซึ่งที่มีการขายกันทางอินเตอร์เน็ตจะพบว่า มีการบอกให้ป้ายทางคอ เพราะมีเส้นเลือดใหญ่ออกฤทธิ์ภายใน 15 นาที หากไม่ได้ผลให้ทาข้อมือซึ่งผิวหนังบาง แต่หลักเภสัชวิทยาไม่มีการดูดซึมผิวหนังแล้วสลบ ส่วนการโปะยาสลบ น่าจะเป็นพวกโคโลฟอร์ม ที่ใช้วางยาสลบ มีตัวเดียวที่ทางแพทย์ใช้กันอยู่ ขึ้นกับความแรง และระยะเวลา ขึ้นกับปริมาณและขนาด แต่ตามข่าวยังไม่เคยพบ เพราะถ้าจะมอมคนอื่นก็น่าจะเป็นการลอบผสมให้กินมากกว่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image