สธ.หนุนเก็บภาษีน้ำหวาน ชี้ช่วยคนไทยสุขภาพดีขึ้น “ลดภาวะโภชนาการเกิน-โรคอ้วน” 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์บริโภคเครื่องดื่มรสหวาน ที่เพิ่มขึ้นของคนไทย ทำให้หลายภาคส่วนต้องหาแนวทางลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวาน ซึ่งมาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาของประเทศไทย คือ การใช้นโยบายการคลังเพื่อเก็บภาษีสินค้าเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในปริมาณสูง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่กันยายน 2560 และในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ จะมีการปรับภาษีความหวานเพิ่มขึ้นอีกรอบ หากผู้ผลิตยังไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มได้ จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่งผลให้ราคาเครื่องดื่มสูงขึ้น วัตถุประสงค์หลักของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาล คือ 1. เพื่อให้ผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มมีแรงจูงใจในการปรับสูตรการผลิต หรือผลิตสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมที่ 6 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร 2.เพิ่มรายได้ภาครัฐจากการจัดเก็บภาษี  3.เพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่ม รสหวานของคนไทย และ 4.ลดความชุกของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคฟันผุ


“ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้เร่งดำเนินกิจกรรมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และจัดกิจกรรมร่วมภาครัฐและเอกชนในการประชุม/สัมมนาเพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพและโภชนาการที่สมดุล ช่วยให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมส่งเสริมการบริโภคเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เติมเต็มผักผลไม้ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคอ่านฉลากโภชนาการ เลือกซื้ออาหารที่ได้สัญลักษณ์ Healthier Choice Logo โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ลดการบริโภคอาหารรสหวานจัด และมีพฤติกรรมการบริโภคที่พึงประสงค์ ซึ่งกรมอนามัยคาดหวังว่าหลังจากภาครัฐปรับขึ้นภาษีสินค้าเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ จะช่วยให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น ลดภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วนให้ลดน้อยลง” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ทางด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า น้ำตาลเป็นส่วนประกอบของอาหารที่หากบริโภคมากไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งจากรายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ โดยสำนักทันตสาธารณสุข พบว่าเด็กอายุ 12 ปี บริโภคน้ำอัดลม น้ำหวาน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าความชุกของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป  ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 37.5 ในปี 2557

Advertisement

“นอกจากนี้ กรมอนามัยเตรียมจะเสนอให้นำน้ำตาลออกจากผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก เพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคหวานในเด็ก เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเด็กไทยติดหวานจนทำให้มีปัญหาโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น เป็นปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของเด็กไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขและป้องกันอย่างต่อเนื่องต่อไป” ทพญ.ปิยะดา  กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image