กทม.เตรียมปิดสวนลุมพินี 1 ปี รีโนเวทระบบสาธารณูปโภค-อาคารทรุดโทรมครั้งใหญ่รอบ 10 ปี

กทม.เตรียมปิดสวนลุมพินี 1 ปี รีโนเวตระบบสาธารณูปโภค-อาคารทรุดโทรมครั้งใหญ่รอบ 10 ปี ฉลองครบรอบ 100 ปี ประกาศงดจัดงานอีเว้นท์ทุกรูปแบบ เหตุทำสวนพัง แจงเปิดบริการปกติ ปิดซ่อมบางส่วน 

ปิดสวนลุมฯ-เมื่อวันที่ 24 กันยายน นางอารมย์ วงษ์มหา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติงบประมาณประจำปี 2563 รวม 134 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการปรับปรุงงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ภายในสวนลุมพินีขนาดเนื้อที่ 360 ไร่ ได้แก่ งานระบบสาธารณูปโภค ระบบท่อและงานระบายน้ำ เส้นทางวิ่ง ไฟฟ้าส่องสว่าง อาคารภายในที่ชำรุดทรุดโทรม ทั้งอาคารบันเทิงที่ใช้ในการประกวดนางสาวไทยในอดีต อาคารภิรมย์ภักดี หรือศาลาแปดเหลี่ยม ป้อมรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี โดยจากข้อมูลเมื่อย้อนกลับไป 10 ปีก่อน สวนลุมพินีไม่เคยได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เคยได้รับการปรับปรุงบ้างในส่วนของทางเท้าและเส้นทางวิ่งในระยะสั้นเท่านั้น ทำให้สภาพเส้นทางวิ่งของสวนลุมพินีปัจจุบันมีมากกว่า 10 รูปแบบในเส้นทางวิ่งระยะทาง 2.5 กิโลเมตร (กม.) ทั้งอิฐตัวหนอน แผ่นพื้นกระเบื้อง ปูนธรรมดา ทรายล้างและอีกหลายแบบ ทำให้ผู้ใช้บริการเส้นทางวิ่งและทางเท้าเกิดความไม่สะดวก เพราะทางเท้าไม่เสมอกัน ขณะเดียวกันยังมีสภาพทรุดโทรม

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก โดยในวันธรรมดา วันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 10,000 คนต่อวัน ส่วนวันหยุด วันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยวันละ 13,000-15,000 คน ทั้งนี้ การปรับปรุงดังกล่าว เพื่อการเฉลิมฉลองสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปีในปี 2568 อีกด้วย” นางอารมย์ กล่าว

แฟ้มภาพมติชน

นางอารมย์ กล่าวว่า โดยเฉพาะการปรับปรุงเส้นทางวิ่ง 2.5 กม. หรือประมาณ 24,000 ตารางเมตร และทางเท้าความยาว 9.25 กม. ระบบระบายน้ำในแนวเส้นทางใต้ดินที่ลาดเอียง ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง รวมถึงท่อบางส่วนยังไม่เชื่อมกับทางระบายน้ำ น้ำไหลลงสู่บึงภายในสวนลุมพินี ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ขณะที่ไฟฟ้าส่องสว่างที่มีอายุการใช้งานมานาน โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เคยเข้ามาสำรวจและพบว่าสายไฟฟ้าบางส่วนชำรุด หากไม่มีการเปลี่ยนหรือปรับปรุง อาจชำรุด และเป็นอันตรายต่อผู้เข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะ รวมถึงการปรับปรุงอาคารบันเทิง ซึ่งเดิมเป็นอาคารสำคัญใช้ประกวดนางสาวไทยในอดีต และอาคารอื่น ทั้งนี้ ยืนยันว่างบประมาณดังกล่าวคุ้มค่า เพราะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายในพื้นที่ถึง 360 ไร่ และเป็นไปตามราคามาตรฐาน ไม่ได้เป็นงบที่มีราคาสูงเกินไป ขณะนี้ความคืบหน้าอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) คาดจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือนมีนาคม 2563 จากนั้นจะเริ่มปรับปรุง โดยใช้เวลา 360 วัน หรือประมาณ 1 ปีการก่อสร้างแล้วเสร็จ หรือภายในปี 2564

Advertisement

“ระหว่างการก่อสร้าง ทางกทม.ยังคงเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเช่นเดิม ไม่ได้ปิดพื้นที่ปรับปรุงทั้งหมด โดยจะมีการปิดพื้นที่บางส่วนเท่านั้น แต่ผู้ใช้เส้นทางวิ่งอาจไม่ได้รับความสะดวก รวมถึงกทม.จะปิดสวนลุมพินี ไม่ให้มีการจัดงานอีเว้นท์ หรือกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจำนวนมาก ขณะนี้จะเหลืองานกาชาด ซึ่งจะขัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นงานสุดท้าย ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านสถาปัตยกรรม ยังจะไม่มีการปรับปรุงในส่วนเนื้องานนี้” นางอารมย์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความคิดเห็นประชาชนเบื้องต้น ส่วนใหญ่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่การปรับปรุงภูมิทัศน์

นอกจากนี้ นางอารมย์ กล่าวว่า ขณะที่สวนสวนสาธารณอื่น ซึ่งปัจจุบันมีสวนสาธารณะ 38 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังไม่มีโครงการปรับปรุงเพิ่มเติม และทุกสวนเปิดให้บริการตามปกติ แต่หลังจากนี้ กทม.จะขอความร่วมมือในการจัดอีเว้นต์ ขอให้ผู้จัดและผู้เข้าร่วมงานมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สวน มักจะได้รับความเสียหายจากการจัดงาน รวมถึงการจัดงานจะต้องไม่กระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นประจำอีกด้วย ส่วนปัญหาอื่นภายในสวนสาธารณะกรุงเทพมหานคร เช่น ปัญหาอนาจาร ก็ได้ขอความร่วมมือไปยังสน.ท้องที่ให้เข้ามาช่วยตรวจตรา และจัดให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ออกตรวจตราพื้นที่ถี่ขึ้น ครั้งละ 30 นาที เป็นต้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายในการขยายพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีอยู่จำกัดนั้น นางอารมย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.ร่วมกับกลุ่มวีพาร์ค สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชนและเครือข่ายต้นไม้ในเมือง พยายามจัดทำพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น แต่ในการขยายพื้นที่อาจทำได้ยาก เพราะขณะนี้พื้นที่มีราคาสูง กทม. จึงใช้จัดทำพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของกทม.เอง หรือขอใช้พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดทำพ็อคเก็ต พาร์ค หรือสวนสาธารณะขนาดเล็ก เพื่อให้กระจายไปยังทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าภายใน 2 ปี โดยขณะนี้ กทม.มีอัตราพื้นที่สีเขียวต่อคน คิดเป็นร้อยละ 6.7 ตร.ม.ต่อคน และพยายามผลักดันให้มีอัตราพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2575 องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ 1 คนต้องมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 9 ตร.ม.ต่อคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image