กทม.เฝ้าระวัง “ก๊าซแอมโมเนียรั่ว” ในโรงน้ำแข็ง 34 แห่ง

โรงน้ำแข็ง-เมื่อวันที่ 29 กันยายน นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. โดยสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย ร่วมกับ 50 สำนักงานเขต รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในสถานประกอบการผลิตน้ำแข็งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกิจการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2561 ประเภทการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และขนส่งน้ำแข็ง นอกจากต้องผลิตน้ำแข็งตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) เพื่อให้น้ำแข็งให้มีความสะอาดปลอดภัยต่อการบริโภคแล้ว จะต้องมีการควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นในกระบวนการ ผลิตน้ำแข็งอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนหรือช่วงที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตจะมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง แสบตา แน่นหน้าอก หมดสติและอาจเสียชีวิตได้ และหากมีน้ำเสียจากการดักจับก๊าซแอมโมเนียหรือจากการดับเพลิงถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำจะทำให้สัตว์น้ำตายได้ โดยสถิติ 2 ปี ที่ผ่านมา พบว่าปี 2560 เกิดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหล 2 ครั้ง และในปี 2561 เกิดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหล 1 ครั้ง ซึ่งมีสาเหตุจากอุปกรณ์ชำรุด เลือกใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสม ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ปลอดภัย ขาดการบำรุงรักษาที่ถูกวิธี

นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2562 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินแอมโมเนียรั่วไหลจากสถานประกอบการผลิตน้ำแข็ง โดยการสำรวจสถานประกอบการผลิตน้ำแข็ง 67 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ใช้แอมโมเนีย ในระบบทำความเย็น 34 แห่ง จากการลงตรวจประเมินด้านสุขลักษณะพื้นที่ปฏิบัติงาน ความปลอดภัยของเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็น การควบคุมการปล่อยมลพิษ การเตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉิน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน พบว่าผ่านเกณฑ์ 33 แห่ง หรือร้อยละ 97 โดยในรายที่ไม่ผ่านเกณฑ์ สำนักงานเขตได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขและตรวจติดตามเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้สำนักอนามัยได้จัดทำแบบตรวจประเมินความปลอดภัยให้ผู้ประกอบการได้ตรวจสอบด้วยตนเอง หากพบข้อบกพร่องจะสามารถแก้ไขได้ทันที พร้อมสนับสนุนเอกสารและสื่อสุขภาพเกี่ยวกับแอมโมเนีย เพื่อใช้ในการจัดสถานประกอบการผลิตน้ำแข็งให้เกิดความปลอดภัย โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากคิวอาร์โค้ด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image