กมธ.สารเคมีฯ วอนรัฐบาลเร่งยุติการใช้ ‘ยากำจัดศัตรูพืช’ ตั้งกองทุนเยียวยาเกษตรกร

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณา 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่า จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ 3 สารเคมีอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ส่งผลกับ กลุ่มเกษตรกรไทย หากสัมผัสจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง หากบริโภคเข้าไปจะมีสารตกค้าง เพิ่มความสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่างๆ ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ ทำให้แม่และลูกในครรภ์ และ เด็กที่เกิดมาจะมีพัฒนาการช้า ความจำและสมาธิสั้น เคลื่อนไหวช้าลง และยังส่งผลร้ายต่อสภาพแวดล้อม โดยทำลายจุลินทรีย์ในดิน มีสารตกค้างในสัตว์น้ำหรือทะเล สุดท้ายพอคนกินสัตว์เหล่านี้เข้าไปจะทำให้สารพิษวกกลับมาสู่คนอีกที

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติผู้ใช้บัตรทอง 4 ปี พบว่ากลุ่มเกษตรกรคนไทยตายจากสารเคมีกำจัดสัตรูพืช 2,193 ราย เบิกค่าใช้จ่ายกว่า 80 ล้านบาท และยอดปี 2562 ยังมีปริมาณผู้เจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการข่มขู่นักวิชาการที่ต่อต้านสารพิษเหล่านี้ ซึ่งเป็นกรรมาธิการฯทั้ง 2 คน และยังมีอาจารย์อีกหลายคนที่ถูกขู่ในลักษณะคล้ายๆ กันอีก ถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อสังคม และยังมีข่าวว่ามีเอกชนข้ามชาติค้าสารเคมีใหญ่เจรจาจ่ายเงิน 1.5 พันล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่แบน 3 สารพิษนี้

“นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้ศึกษาดูงานที่ อ.เชียงของ พบว่าเกษตรกรใน จ.เชียงราย ผู้ที่หันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ มักพบกับปัญหาในหลายๆ ด้าน ล่าสุดคณะกรรมาธิการฯ เตรียมเสนอรัฐบาลให้ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมตรวจสอบการนำเข้าพืชผักผลไม้จากจีนผ่านด่านชายแดน จ.เชียงราย ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตกรไทย จากผลการศึกษาพิสูจน์ว่ามีหลากหลายวิธีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารพิษอันตราย เช่น การตากดิน ไถดิน การใช้อินทรีย์ชีวภาพ การใช้สารทดแทนที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งสิ่งทดแทนเหล่านี้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใช้สารเคมีเดิม 3 – 4 เท่า แต่หากจำเป็น รัฐควรต้องชดเชยค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกร” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวและว่า ขณะนี้ประเทศไทยประสบกับปัญหาพิษภัยจากสารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรมอยู่ในขั้นวิกฤต โดยส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย และผู้บริโภคให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงวขอให้รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประชุมยุติการค้า 3 สารพิษดังกล่าว อย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนรอดูผลการตัดสินเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและเร่งด่วน หากไม่รีบแก้ไขจะต้องมีคนไทยอีกเท่าไรที่ต้องเสียชีวิตจากสารพิษเหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image