ผอ.สบอ.1 ชี้ 4 เหตุผล 2 ช้างกลับเข้าโขลงปลอดภัย คาดไม่เกิน 5 วันกู้ซากได้

ผอ.สบอ.1 ชี้ 4 เหตุผล 2 ช้างกลับเข้าโขลงปลอดภัย

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.) ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ว่า ช้างป่า 2 ตัวที่รอดตายจากการเดินทางผ่านลำห้วยสมอปูนที่ไหลลงสู่น้ำตกเหวนรกนั้น ยืนยันว่าขณะนี้ปลอดภัยและกลับเข้าสู่โขลงใหญ่ในป่าแล้ว เนื่องจากปกติช้างป่าจะใช้เส้นทางเดินจากทางทิศเหนือของป่ามาสู่ทิศใต้เพื่อหาอาหาร โดยทุกครั้งที่เดินทางก็จะต้องเดินข้ามลำห้วยดังกล่าว เพราะเป็นจุดที่ช้างรู้ว่าปลอดภัยที่สุด เนื่องจากบริเวณอื่นจะเป็นผาสูง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอุบัติเหตุทำให้ช้างพลัดตกไปถึง 8 ตัว แต่สำหรับ 2 ตัวที่รอด สันนิษฐานว่า เป็นแม่ช้างที่ค่อนข้างจะมีประสบการณ์ชีวิตสูง คาดว่ามีอายุ 35 ปี โดยอีกตัวก็เป็นช้างรุ่นอายุ 15 ปี จึงมีความชำนาญพื้นที่และสามารถเอาตัวรอดขึ้นมาได้

“4 ข้อสังเกตที่ทำให้มั่นใจว่าช้าง 2 ตัวกลับเข้าสู่โขลงในป่าแล้วคือ 1.พบรอยตีนของช้างใกล้หน้าผามีทิศของรอยเดินขึ้นไปทางทิศเหนือแล้ว 2.พบร่องรอยการกินต้นไผ่ข้างทางใกล้บริเวณที่ช้าง 2 ตัวขึ้นจากหน้าผา 3. พบร่องรอยการกินโป่งบริเวณป่า 4 พบมูลช้างที่มีเศษไผ่ โป่งและผลไม้ที่ เจ้าหน้าที่อุทยานได้ให้ช้าง 2 ตัวกินขณะที่ช่วยเหลือขึ้นจากหน้าผา จึงทำให้มั่นใจว่าช้างทั้ง 2 ตัวนั้นปลอดภัยและกลับเข้าสู่โขลงใหญ่ที่ป่าทางทิศเหนือแล้ว” นายวิทยา กล่าว

Advertisement

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ปฏิบัติการกู้ซากช้าง 6 ตัว อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ นำโดรนบินค้นหา และพบซากช้าง 3 ตัวบริเวณน้ำตกชั้นที่ 2 และอีก 3 ตัวอยู่ที่ทางโค้งของน้ำตก โดยสภาพอากาศวันนี้ปลอดโปร่งจึงจะดำเนินการบินโดนค้นหาตำแหน่งล่าสุดที่ซากช้างไปติดอยู่ พร้อมทั้งเร่งจัดทำตาข่ายขนาด 35 เมตรที่บริเวณคอขอดคลองต้นไทรที่เป็นพื้นที่ราบข้างล่างของน้ำตกซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนติดกับทางออกท้ายเขื่อนขุนด่านปราการชล โดยขึงกับก้อนหินขนาดใหญ่ 2 ก้อนทางซ้ายและขวาของบริเวณคอขอดดังกล่าว จากการคำนวณระยะทางห่างจากที่พบซากในขณะนี้ประมาณ 7 กิโลเมตร คาดการณ์ว่าจะ กู้ซากช้างทั้งหมดประมาณ 5 วันหรือหากมีฝนตก กระแสน้ำไหลเชี่ยวก็จะใช้เวลาน้อยลง ทั้งนี้เมื่อมีซากช้างมาติดตาข่ายเจ้าหน้าที่จะพิจารณาวิธีกำจัด หากสามารถนำรถแบ๊กโฮเข้าพื้นที่ได้ก็จะดำเนินการฝังกลบแต่ถ้าหากไม่สามารถดำเนินดังกล่าวได้ก็จะใช้วิธีการเผาและโรยปูนขาว เพื่อฆ่าเชื้อโรค

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้มีการวางแผนดำเนินการป้องกันการผลัดตกของช้างบริเวณที่เกิดเหตุ เนื่องจากเป็นพื้นที่เดียวที่อันตราย เนื่องจากพื้นที่อื่นเป็นหน้าผาสูงและมีปูนปั้นกันไว้ โดยสัญชาตญาณของสัตว์รู้ว่าอันตรายก็จะไม่เข้าไปใกล้ เบื้องต้นจึงจะตั้งจุดสกัดก่อนถึงลำห้วยสมอปูนที่ช้างใช้เดินทางเป็นประจำโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุด เพื่อสังเกตกระแสน้ำว่าปลอดภัยหรือไม่ ก่อนปล่อยให้ช้างเดินทางข้ามผ่านลำห้วย ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการวางแผนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่จากช้างป่าเป็นหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image