‘หมออลงกรณ์’ แนะใช้ ‘ไผ่’ ทำแนวกั้นช้างพลาดตกเหว ลดกิจกรรมนักท่องเที่ยวชมเหวนรก

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวกรณีช้าง 13 ตัว ตกเหวนรกบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และตาย 11 ตัว รอดอีก 2 ตัว ว่า เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2535 ซึ่งในตอนนั้นตกลงไป 8 ตัว ตายทั้งหมด ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ก็เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำร้อยจนได้ ในอดีตที่ผ่านมา ก็มีการป้องกันโดยทำรั้วซึ่งเป็นเสากั้นไว้ไม่ให้โขลงช้างพลาดตกลงไปอีก แต่คงต้องมีการระดมความคิดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในภายภาคหน้า

“ธรรมชาติของช้างป่านั้น พวกมันจะใช้ทางเดินในป่าธรรมชาติที่เรียกว่า “ด่านช้าง” เป็นทางเดินตามปกติของมันทุกวัน ด่านช้างนี้ บรรพบุรุษของช้างป่าใช้เป็นเส้นทางเดินโดยการเหยียบย่ำพื้นดินบริเวณนี้ซ้ำๆ กันทุกวันจนเป็นทางเตียนโล่งในป่า ขนาดกว้าง 0.5 – 1.0 เมตร ทอดเข้าไปในป่าไม่มีที่สิ้นสุด ถือเป็นทางที่ปลอดภัยต่อพวกช้าง สัตว์ป่าชนิดอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์ก็ใช้ทางนี้เป็นทางเดินหลักเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของสัตว์ป่าเพราะพวกพรานป่า และพวกที่ล่าสัตว์ป่าก็จะใช้เส้นทางนี้ในการดักทำร้ายสัตว์ป่า ยิงสัตว์ป่าซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในทางลบ ในเวลาเดียวกันช้างป่าและสัตว์ป่าก็จะเรียนรู้ไปในตัวเองว่ามนุษย์เป็นอันตราย เจอที่ไหนก็จะพุ่งเข้าทำร้ายมนุษย์ทันที” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวและว่า ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ช้างป่าเกิดเหตุการณ์น้ำตกเหวนรกอีก น่าจะเป็นวิธีการป้องกันที่ดี โดยใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วย คือ การทำกำแพงไม้ที่ช้างไม่สามารถเข้าไปถึงจุดที่เป็นน้ำตกได้ อีกทั้งเมื่อถึงช่วงฤดูฝนน้ำตกจะมีเป็นจำนวนมาก แตกกระเซ็นเป็นฝอย และละอองน้ำเต็มไปหมด ทำให้ทั่วบริเวณลื่น หากช้างตกลงไปและยังไม่ตายก็ต้องทนแช่อยู่ในน้ำเย็นที่อุณหภูมิของน้ำ 10 – 18 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิร่างกายของช้าง 37 – 38.5 องศาเซลเซียส สัตว์ป่าก็ต้องทนความหนาวเย็นไม่ไหวจนตาย

น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า การป้องกันควรสำรวจแนวหรือเส้นทางที่เป็นเหวนรกหรือจุดที่เปราะบางที่ช้างอาจพลาดตก และเลือกปลูกต้นไม้ธรรมชาติที่คิดว่าเหมาะสมและแข็งแรงทนต่อแรงกระแทกของช้าง ซึ่งมีให้เลือกหลายชนิดในเขาใหญ่ ในความคิดเห็นส่วนตัวที่เคยสัมผัสมาในอดีต ในช้างป่าแต่ละแห่งของไทยต้นไผ่เป็นไม้ธรรมชาติที่เหมาะสมที่สุด ไผ่ตงขนาดลำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้วขึ้นไป จะมีความสูง 30 – 40 เมตร ปลูกเป็นระยะๆ ความห่างระหว่างกอไผ่ 10 – 20 เมตร ช่องว่างความห่างระหว่างกอไผ่ตงให้ปลูกกอไผ่หนาม ซึ่งเมื่อโตเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 – 10 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร เวลา 3 ปีขึ้นไปกำแพงไผ่ดังกล่าวจะอัดกันแน่นเป็นกำแพงทึบ เพราะต้นไผ่จะแตกหน่อไม้ทุกปี และเจริญออกในแนววงกลมโดยรอบ ถ้าต้องการให้กำแพงหนา 10 เมตร ก็อาจจะปลูกไผ่ 2 แนว ยิ่งเป็นการเพิ่มจำนวนไผ่และความหนาของไผ่เร็วยิ่งขึ้น อันนี้เป็นหลักการในการสร้างกำแพงธรรมชาติป้องกันช้าง กำแพงดังกล่าวอาจยาวได้ถึง 1 – 10 กิโลเมตร ตามแนวป้องกันที่คดเลี้ยวตามธรรมชาติ อย่าไปสร้างแนวป้องกันใหม่ขึ้นมาเพราะจะไปทำลายธรรมชาติโดยไม่จำเป็น

กรรมการสมาคมฯ กล่าวว่า การป้องกันอีกประการหนึ่งก็คือ ลดกิจกรรมนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวบริเวณน้ำตกเหวนรก ควรกันบริเวณนี้ให้เป็นที่อยู่ของช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เท่านั้น ไม่ควรให้มนุษย์เข้าไปรบกวน ควรให้เป็นที่ส่วนตัวของสัตว์ป่าอาจกำหนดรัศมีจากบริเวณเหวนรกออกไป 3 – 5 กิโลเมตร เป็นอย่างน้อย ผลพลอยได้ที่จะตามมาก็คือ ป่าไม้จะเพิ่มจำนวนขึ้น ภาวะเครียดในสัตว์ป่าลดลงเนื่องจากไม่ต้องระแวงมนุษย์ ประการสุดท้ายก็คือ นักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวเขาใหญ่ควรอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อุทยานโดยใกล้ชิด ถ้าจะเดินท่องเที่ยวชมป่าควรมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้นำทาง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะรู้ว่าตรงจุดไหนที่ไม่ควรไป เพราะอาจจะไปรบกวนสัตว์ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image