สธ.นำร่อง “นักท่องเที่ยวสูงวัย” ประเภทลอง สเตย์ ทำประกันสุขภาพ 1 ปี

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงศุล นายสุทธิพล ทวีชัยกร เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงถึงการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A 1 ปี โดยนำร่องกลุ่มชาวต่างชาติสูงอายุทุกรายที่พักอาศัยในประเทศไทยระยะยาว ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

นายสาธิต กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก นโยบายนี้ทำเพื่อประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในการดูแลสุขภาพผ่านบริษัทประกันทั้ง 14 บริษัท พร้อมยืนยันว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย หากโครงการนี้สำเร็จผล เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวหรือพักอาศัยในประเทศไทยได้อย่างมาก ระบบจะมีผลบังคับใช้และรับรองการทำประกันสุขภาพตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562 โดยนำร่องกับกลุ่มชาวต่างชาติสูงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปทุกราย ที่เข้าพำนักระยะยาวในราชอาณาจักร (Long Stay) ซึ่งจากรายงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมการกงศุล พ.ศ.2562 มีผู้ขอเข้ารับการตรวจลงตราประเภทนี้มากกว่า 80,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

Advertisement

“สำหรับนักท่องเที่ยวตามเงื่อนไขการทำประกันที่จะเข้ามาใหม่และที่อาศัยอยู่เดิม แต่อยากอยู่อาศัยมากกว่า 1 ปี ให้ทำการนำเอกสารต่างๆ มาลงทะเบียนและทำการขอต่อวีซ่า โดยจะต้องเข้าระบบการทำประกันตามที่กำหนด” นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า การซื้อประกันสุขภาพสามารถซื้อได้ทั้งในและนอกประเทศไทย โดยเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันนั้นๆ แต่สำหรับผู้ซื้อประกันสุขภาพนอกประเทศไทยจะต้องมีสิทธิประกันใกล้เคียงกับการซื้อในไทย คือ ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท ผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท โดยขณะนี้มีบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ 14 บริษัท และมอบให้ สบส.นำขึ้นเว็บไซต์กลางที่เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้ว

“ขณะนี้เริ่มต้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นประเภทลอง สเตย์ และมีแนวโน้มหารือขยายผลไปสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย” นพ.ธเนศ กล่าวและว่า การจัดทำประกันสุขภาพเพื่อชางต่างชาตินั้น เป็นการแก้ปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่ายการรักษาตัวของชาวต่างชาติในประเทศไทยที่มีสูงถึงปีละ 100 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image