มะกันวิจัยแรกของโลก “บุหรี่ไฟฟ้า” ทำหนูทดลองเป็นมะเร็งปอด

นักวิจัยสหรัฐฯพบหนูสัมผัสไอบุหรี่ไฟฟ้า 1 ปี เกือบ 1 ใน 4 ป่วยเป็นมะเร็งปอด กว่าครึ่งพบเซลล์กระเพาะปัสสาวะส่อเป็นเนื้อร้าย

วันที่ 10 ตุลาคม พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา งานวิจัยชิ้นใหม่จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นำโดย  ศ.Moon-shong Tang ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยา ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุความสัมพันธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิดมะเร็งปอด และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กระเพาะปัสสาวะที่ส่อว่าจะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งในหนูทดลอง

พญ.เริงฤดี กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ ได้ใช้หนูทดลองจำนวนทั้งสิ้น 85 ตัว ทำการสุ่มแยกหนูออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 45 ตัว ได้รับไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าชนิดน้ำที่มีความเข้มข้นของนิโคติน 36 mg/ml ผสมกับสารละลาย PG (Propylene glycol) และ VG (Vegetable glycerine) วันละ 4 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 54 สัปดาห์ กลุ่มที่สอง ใช้หนูทดลองจำนวน 20 ตัว โดยให้สัมผัสไอระเหยจาก PG, VG ที่ไม่มีสารนิโคตินรวมอยู่ เป็นเวลาเท่ากัน และกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มเปรียบเทียบที่ไม่ได้สัมผัสไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 20 ตัว (ระหว่างการทดลองพบหนู 9 ตัว ตายเนื่องจากสภาพที่ไม่พร้อม แต่ตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งในหนูเหล่านี้)

Advertisement

“เมื่อครบเวลา 54 สัปดาห์ ทีมวิจัยได้นำหนูทั้งหมดจำนวน 76 ตัว มาตรวจเซลล์ในอวัยวะภายในที่สำคัญต่าง ๆ ในหนูกลุ่มแรกที่สัมผัสบุหรี่ไฟฟ้าชนิดนิโคตินที่ผสมกับสาร VG, PG พบเซลล์มะเร็งในปอด 9 ตัว จากหนูทั้งหมด 40 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 22.5) และพบเซลล์ที่ส่อว่าจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะของหนูกลุ่มนี้ 23 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 57.5)  ขณะที่ไม่พบการเกิดมะเร็งปอดในกลุ่มของหนูที่สัมผัสไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าชนิดไม่มีนิโคติน และหนูในกลุ่มที่ 3 ที่ไม่ได้สัมผัสไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าเลย พบมะเร็งปอดเพียง 1 ใน 18 ตัว” พญ.เริงฤดี กล่าวและว่า ศ.Moon-shong Tang ระบุว่า ปริมาณไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าที่หนูทดลองกลุ่มนี้ได้รับ เทียบได้เท่ากับคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ถึง 5 ปี ผลการศึกษาสรุปได้ว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายและมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอดในหนูที่ทดลอง โดยนักวิจัยเชื่อว่าไอระเหยบุหรี่ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กว่าควันบุหรี่ธรรมดา ทำให้สารพิษต่างๆ รวมทั้งนิโคตินเข้าไปสู่เซลล์ปอดได้ลึกมากกว่าจนไปทำลายเซลล์ปอดได้รับอันตรายเป็นสาเหตุของมะเร็ง

พญ.เริงฤดี กล่าวต่อไปว่า ทีมวิจัยคณะนี้ได้เคยทำการศึกษาผลของการสัมผัสไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าในหนูระยะสั้นมาแล้ว โดยครั้งก่อนได้ให้หนูสัมผัสไอระเหยเพียง 3 เดือน พบมีการทำลายของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในเซลล์ปอด หัวใจและกระเพาะปัสสาวะ การศึกษานี้เป็นงานวิจัยแรกที่มีการติดตามระยะยาว และค้นพบความจริงที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ซึ่งงานวิจัยที่แสดงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าทยอยเปิดเผยสู่สาธารณะเรื่อยๆ รวมทั้งกรณีที่มีการระบาดของปอดอักเสบรุนแรงในสหรัฐ ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย และมีผู้ป่วยกว่า 1,000 คน ลบล้างความเชื่อที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา

วันเดียวกัน นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยเเลนด์) ลิมิเต็ด บริษัทในเครือของฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (พีเอ็มไอ) กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Product) ของพีเอ็มไอแตกต่างจากบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีส่วนประกอบของใบยา ไม่ใช่น้ำยานิโคตินเหลว และไม่ใช่บุหรี่ซิกาแรต เนื่องจากไม่มีการเผาไหม้ แต่เป็นการให้ความร้อนกับใบยา นับเป็นยาสูบไร้ควันตัวแรกที่สามารถจำหน่ายได้ในสหรัฐ และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานสาธารณสุขใดๆ ทั้งจากในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ระบุว่าผลิตภัณฑ์ของพีเอ็มไอเกี่ยวข้องกับโรคปอดอักเสบ

Advertisement

“ผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อน คือ ยาสูบแบบไม่เผาไหม้ที่ใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนใบยาเพื่อให้เกิดไอละอองที่มีส่วนประกอบของนิโคติน โดยที่ใบยาสูบไม่มีการเผาไหม้ ทำให้ไอละอองที่ปล่อยออกมามีสารประกอบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าสารประกอบที่พบในควันบุหรี่โดยเฉลี่ยร้อยละ 95 พีเอ็มไอทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเกี่ยวกับศักยภาพในการลดความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงการศึกษาทางคลินิก 10 ชิ้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่มีในปัจจุบันชี้ว่า การเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์แบบให้ความร้อนโดยสมบูรณ์ แม้จะไม่ได้ปลอดภัยจากความเสี่ยงทั้งหมดและยังทำให้เกิดการเสพติด แต่ก็เป็นอันตรายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่” นายพงศธร กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image