“เคที” ขยายเวลายื่นใช้ท่อร้อยสายสื่อสาร “ไมโครดัก” ถึง 16ต.ค. เผยล่าสุดเอกชนแจ้งแล้ว 8 ราย

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการทุกรายเพื่อขอทราบความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะของ “ไมโครดัก” ของทางบริษัทฯ ไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 และให้ผู้ประกอบการที่สนใจส่งเอกสารกลับมาที่บริษัทกรุงเทพธนาคม ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 โดยได้จัดส่งหนังสือสำรวจความต้องการไปยังผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ทุกรายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 61 ราย ซึ่งเมื่อครบกำหนด ปรากฎว่ามีผู้สนใจแจ้งความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะ “ไมโครดัก” ของทางบริษัทฯ จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท เคเบิลคอนเนค จำกัด 2.บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด 3.บริษัท อินฟอเมชั่น ไฮเวย์ จำกัด 4.บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 8.บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) และอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารโดยมีจดหมายขอส่งเอกสารล่าช้าอีก 3 ราย

นายมานิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการขอทราบความต้องการใช้ท่อร้อยสายในครั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการระบุรายละเอียดความต้องการใช้ท่อร้อยสายแยกเป็นรายถนนจำนวน 682 เส้นทางทั่วกรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้ประกอบการสามารถระบุความต้องการได้ว่าแต่ละถนนต้องการใช้จำนวนกี่ท่อ ทั้ง 2 ฝั่งถนนหรือไม่ และต้องการใช้ท่อในปัจจุบันจำนวนกี่ท่อ และแผนในอนาคต 5-10 ปี จำนวนเท่าใด ซึ่งมีหลายบริษัทฯ ได้แจ้งเข้ามาว่ามีความประสงค์จะแจ้งความต้องการใช้งานท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของบริษัทฯ แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนในการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วน ดังนั้นเพื่อเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ให้ผู้ประกอบการทุกรายที่มีความประสงค์ เคทีจึงเห็นควรขยายระยะเวลาการสำรวจความต้องการออกไป โดยเปิดรับเอกสารข้อเสนอความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน จนถึงวันที่ 16 ตุลาคมนี้

Advertisement

“สำหรับขั้นตอนหลังจากที่ได้ทราบความต้องการใช้ท่อทั้งหมดแล้ว จะใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญในการออกแบบระบบ และคำนวณต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งจะสะท้อนมาเป็นอัตราค่าเช่าท่อ โดยจะสรุปข้อมูลเสนอไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาอัตราค่าเช่าท่อร้อยสาย ตามขั้นตอนต่อไป” นายมานิต กล่าวและว่า เคทียืนยันว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนมีความโปร่งใสและพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีความสวยงาม ปลอดภัย ทันสมัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image