กรมควบคุมโรคแจงเหตุด่านไม่ตรวจผู้โดยสารมาจากเขต ‘โรคไข้เหลือง’

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เดินทางจากต่างประเทศโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียว่า หลังเดินทางกลับจากประเทศในทวีปแอฟริกา แล้วไปรายงานตัวที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศภายในที่สนามบิน แต่ไม่พบเจ้าหน้าที่นั้น กรมควบคุมโรคต้องขออภัยในความไม่สะดวกดังกล่าว และพร้อมยอมรับคำแนะนำต่างๆ เพื่อนำปรับปรุงกระบวนการในการให้บริการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศให้ดีขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ผู้เดินทางรายนี้มีประวัติรับวัคซีนไข้เหลืองก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว และเดินทางไปหลายประเทศก่อนจะกลับประเทศไทย ซึ่งจากการตรวจสอบเป็นประเทศที่ถูกถอดชื่อออกจากพื้นที่เขตติดโรคไข้เหลืองตามประกาศขององค์การอนามัยโลกแล้ว ตลอดจนปัจจุบันได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองสามารถสร้างภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตได้ ดังนั้น ผู้เดินทางรายนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองโรคไข้เหลืองซ้ำก่อนการตรวจคนเข้าเมืองเหมือนดังเช่นผู้ที่มีประวัติเดินทางมากจากพื้นที่เขตติดโรคไข้เหลือง ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบรายชื่อประเทศเขตติดโรคไข้เหลืองได้ที่ http://law.ddc.moph.go.th/file/lawgcd/003.6.pdf
“ในกรณีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จัดทำขั้นตอนและระบบแจ้งเตือนระหว่างเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคฯ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในกรณีนอกเวลาทำการ นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลล่วงหน้าของยานพาหนะและผู้โดยสารอีกด้วย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพบผู้เดินทางเข้าข่ายต้องได้รับการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสามารถติดต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ในลักษณะตามเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ (on call) ส่วนกรณีมีผู้โดยสารเดินทางมากับเที่ยวบินตรงจากประเทศตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ผู้โดยสารทั้งลำและเครื่องบินจะต้องดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข ซึ่งสายการบินต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนเดินทางเข้าสู่ประเทศไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558” นพ.อัษฏางค์ กล่าว
นอกจากนี้ นพ.อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการป้องกันโรคไข้เหลืองตามมาตรฐานสอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งในผู้เดินทางไปประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลืองที่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันก่อนเดินทาง และผู้ที่จะเข้ามายังประเทศไทยก็มีการตรวจที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ดังนี้ 1.ผู้เดินทางไปประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลือง ควรได้รับการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองก่อนเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วัน และระหว่างอยู่ในประเทศดังกล่าวควรระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ยุงกัด หลีกเลี่ยงไปพื้นที่การระบาดโรคไข้เหลือง หากรู้สึกไม่สบาย หรือมีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีจุดเลือดออก จ้ำเลือดตามตัว หรือเลือดออกตามที่ต่างๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ และ 2.ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลืองตามประกาศองค์การอนามัยโลก และจะเข้ามายังประเทศไทย ต้องยื่นเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง และกรอกข้อมูลลงแบบสอบถามต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ปฏิบัติงานประจำที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หากไม่มีเอกสารรับรอง ต้องได้รับการฉีดวัคซีนและรายงานสุขภาพกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 6 วัน
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 สธ.ได้ประกาศกำหนดให้โรคไข้เหลืองเป็นโรคติดต่ออันตราย ที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น และประกาศประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลือง ทั้งหมด 42 ประเทศ แยกเป็น 2 ทวีป คือ ทวีปแอฟริกา 29 ประเทศ และทวีปอเมริกาใต้ 13 ประเทศ ดังนี้ ทวีปแอฟริกา 29 ประเทศ ได้แก่ แองโกลา เบนิน บูร์กินาฟาโซ บุรุนดี แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง สาธารณรัฐคองโก โกตดิวัวร์ เอธิโอเปีย แกมเบีย กาบอง กานา กินี กินี-บิสเซา อิเควทอเรียลกินี เคนยา ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย เซเนกัล เซียร์ราลีโอน ซูดาน เซาท์ซูดาน ชาด โตโก ยูกันดา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ไนเจอร์ และไนจีเรีย ส่วนทวีปอเมริกาใต้ 13 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โบลีเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เฟรนช์เกียนา ปานามา เปรู ตรินิแดดและโตเบโก เวเนซุเอลา ซูรินาเม อาร์เจนตินา และปารากวัย
สำหรับโรคไข้เหลือง เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้เหลือง มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อจากผู้ป่วยเป็นโรคไข้เหลืองไปสู่คนปกติ อาการของโรคคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดเอว คลื่นไส้อาเจียน จะมีเลือดออกทางปาก ทางจมูก อาจมีอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการเหลืองเล็กน้อยในระยะแรก และจะเหลืองมากขึ้นในระยะต่อมา ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเนื่องจากตับวายและไตวาย โรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ การป้องกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ซึ่งประชาชนที่จะเดินทางไปประเทศดังกล่าวข้างต้นต้องดูแลสุขภาพของตนเองและระมัดระวังอย่าให้ยุงลายกัด หากสงสัยสอบถามได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค โทร.0 2590 3232-5 หรือ สายด่วน 1422
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image