ไทยโชว์โลก ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม

นอกเหนือจากการประชุมผู้นำระดับสูงว่าด้วย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) ที่สำนักงานใหญ่ สหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นไปกล่าวยืนยันความสำเร็จของ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” แล้ว คณะของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมเวทีใหญ่ เวทีย่อย ของสหประชาชาติอีกหลายเวที เพื่อลงรายละเอียดการทำงานตลอด 17 ปี นับตั้งแต่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มต้น

ปีนี้ ธีมใหญ่ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายให้ทุกประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามแผนพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ไทยจึง “เนื้อหอม” เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดบทเรียน ความก้าวหน้า และสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคตให้กับนานาชาติ เพราะข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ยังมีประชากรทั่วโลกอีกมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือเกินกว่า 3,000 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และไม่สามารถรับบริการ แม้แต่บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

เหตุผลสำคัญที่ไทยถูกเลือกเป็นตัวอย่างให้กับทั่วโลก ก็คือ “หลักคิด” ที่เข้มแข็ง ตั้งแต่เริ่มแรก นั่นคือ “หลักประกันสุขภาพ” คือการ “ลงทุน” ไม่ใช่การ “สงเคราะห์” หมายความว่า หากทรัพยากร “คน” มีสุขภาพที่ดี มีหลักประกันหากเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ประเทศก็สามารถพัฒนาได้

Advertisement

ขณะเดียวกัน หลักประกันสุขภาพก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อคนยากจนอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเสมอภาค ถ้วนหน้า และมีส่วนร่วมในการเป็น “เจ้าของ” ไม่ได้มีรัฐบาล นักการเมือง พรรคการเมือง หรือหน่วยงานใดผูกขาดความเป็นเจ้าของโครงการนี้แต่เพียงผู้เดียว แต่ระบบถูกออกแบบให้ “มีส่วนร่วม” จากทั้งหน่วยงานราชการ เครือข่ายผู้ป่วย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เฉพาะโรค ทำให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. เล่าในเวทีคู่ขนานเรื่อง การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Making Voices heard : Social participation for equity and accountability in pathways towards UHC) ที่สหประชาชาติว่า ต้นทางของการกำหนด “สิทธิ” ทิศทาง และนโยบายของระบบ เกิดขึ้นจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีคณะทำงานย่อยๆ มากมาย เพื่อรองรับให้ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ภาคประชาชน หน่วยงานราชการ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และโรงพยาบาล เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันตรวจสอบสิทธิประโยชน์

นั่นแปลว่า สปสช.ไม่ได้บริหารจัดการทั้ง “ต้นทาง” และ “ปลายทาง” ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยตัวเองแต่เพียงผู้เดียว แต่มีองคาพยพอีกจำนวนมากร่วมกันทำงาน ก่อนจะเป็นนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งใน “เคล็ดลับ” ที่ทำให้นโยบายนี้ยั่งยืน ไม่สามารถมีใครเปลี่ยนหลักการได้ตลอดเวลาที่ผ่านมา

อีกหนึ่งความสำเร็จที่ไทยสามารถยกไปโชว์ให้นานาชาติได้เห็นคือ การใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งไทยเริ่มต้นบรรจุอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งทำให้ทั่วโลก “ทึ่ง”

วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ศ.นพ.วิเวกอานันท์ จาห์ ประธานสมาคมโรคไตนานาชาติ (The International Society of Nephrology) ชาวอินเดีย ได้กล่าวยกย่องไทย ในฐานะประเทศที่สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนทำให้ผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากรอดชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต้องล้มละลายจากการจ่ายค่าฟอกไต โดยยกย่องให้ไทยเป็นต้นแบบการคุมงบประมาณ และถือเป็นโมเดลให้กับนานาชาติในการขยายระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังต่อไป ซึ่งไทยก็ยินดีที่จะขยายผลให้นานาชาติเดินตาม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมโรคไตนานาชาติระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมากกว่า 850 ล้านคนทั่วโลก ที่ยังประสบปัญหา เข้าไม่ถึงการบริการ และยังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประธานสมาคมโรคไตนานาชาติ ระบุว่า หากไทยสามารถถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการให้กับประเทศที่ยังไม่มีระบบนี้ จะสามารถช่วยชีวิตคนได้อีกมาก

อีกหนึ่งความสำเร็จที่นานาชาติสนใจคือ ระบบการบริหารจัดการผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งไทยเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 2549 เนื่องจากไทยสามารถจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ที่มีราคาแพงมาใช้ได้ แม้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจะไม่ได้ตั้งไว้สูงมาก และเมื่อมีเชื้อไวรัสดื้อยา ไทยก็หายาที่ราคาแพงขึ้นมาให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อีก ผ่านการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา เมื่อปี 2550

ความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นโดยมี “แนวร่วม” สำคัญ อย่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ร่วมเคลื่อนไหว ตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อ ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการ “ส่งเสียง” ให้กับทั้งผู้ติดเชื้อ ไปจนถึง “กลุ่มเสี่ยง” ติดเชื้อเอชไอวีหน้าใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงนโยบายยุติเอดส์ของไทยว่า ภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญ ทั้งในนามของเครือข่ายผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานในชุมชน ซึ่งทำให้ไทยสามารถเข้าใกล้เป้าหมายยุติเอดส์ได้ นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนมุมมองจากที่ผู้ป่วยเป็นเพียงแค่ผู้รับบริการ มาเป็นผู้ให้บริการ เพื่อป้องกันผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ด้วย

วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ไทยได้ขยายสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้รวมถึงการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง สานต่อความสำเร็จของโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ขยายไปสู่การ “ป้องกัน” มากขึ้น ทำให้เห็นว่า ไม่ได้สนใจแต่เรื่อง “รักษา” อย่างเดียว

นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. สรุปความสำเร็จของนโยบายนี้ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้พิสูจน์แล้วว่า การที่รัฐลงทุนให้กับประชาชน ได้สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 20 เช่นเดียวกับทำให้ประชากรหลุดพ้นจากความล้มละลาย เพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล

“ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกี่ยวข้องกับการเพิ่มรายได้ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดและสามารถกระจายรายได้ทางอ้อมและสร้างความมั่งคั่งสำหรับทุกคน เท่ากับว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยลดความยากจนได้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ.กล่าว

ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากระบบสาธารณสุขของไทยตั้งแต่ปี 2545 ได้ “พลิกมุมคิด” อย่างชัดเจน จากเดิมที่ให้บริการสุขภาพเฉพาะผู้มีรายได้ปานกลาง หรือชนชั้นกลาง มาเป็นการเริ่มต้นจากกลุ่มชายขอบและเปราะบาง ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น จึงทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ช่วงเวลา 1 สัปดาห์ ที่นิวยอร์ก ยังทำให้ไทยมีโอกาสพบปะ ถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบ “ทวิภาคี” ให้กับประเทศ “แอฟริกาใต้” ที่สนใจการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย โดย นพ.ซเวลลินิ แอล มไคซ์ รัฐมนตรีว่าการ สธ.แอฟริกาใต้ ได้หารือกับ นพ.สำเริง ขอให้ไทยเป็น “ที่ปรึกษา” ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแอฟริกาใต้ยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบ

สำหรับไทยและแอฟริกาใต้ ถือว่ามีความคล้ายคลึงกันหลายประการ ตั้งแต่การมีสถานะเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา” เหมือนกัน และมีสถานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน โดยแอฟริกาใต้ทึ่งที่ไทยสามารถมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ตั้งแต่ 17 ปีก่อน และยังสามารถพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแม้จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ผลลัพธ์ ก็ครอบคลุมประชากรมากกว่า 48 ล้านคน ซึ่งไทยก็ยินดีเป็นที่ปรึกษา และพร้อมถ่ายทอดความรู้ แผนปฏิบัติงานอย่างละเอียดให้แอฟริกาใต้นำไปพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของตัวเองต่อไป

ทั้งหมดนี้ สะท้อนความสำเร็จของไทย ในฐานะผู้ร่วมเสนอร่างปฏิญญาการเมืองเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : เดินหน้าไปด้วยกันเพื่อสร้างโลกที่สุขภาพดีขึ้น” ให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมเดินตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ว่าไม่ใช่ประเทศที่เสนออย่างเดียว แต่ได้เริ่ม “ทำ” แล้ว และทำสำเร็จให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยคนเดียว หรือด้วยระยะเวลาสั้นๆ แต่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์ อาศัยองค์ความรู้ และความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อทำให้ระบบดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image