สธ.เพิ่มบริการป้องกัน-รักษา ‘โรคช่องปาก’ ในเด็ก และหญิงตั้งครรภ์

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมการดำเนินงานทันตสุขภาพ ปี 2563 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรมอนามัยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคช่องปากทุกกลุ่มวัย และชี้แจงแนวทางการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule) โดยมีบุคลากรทันตสาธารณสุขจากศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาล เข้าร่วมประชุม จำนวน 300 คน

นพ.สุขุม กล่าวว่า การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับทุกกลุ่มวัย ในปี 2563 สธ.ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากในเด็กวัยเรียน และหญิงตั้งครรภ์ทุกสิทธิการรักษา เพื่อเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับการมีสุขภาพช่องปากที่ดี ในช่วงวัยต่อไปของชีวิต ได้รับบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่เกิดโรคในช่องปากที่ลุกลามจนสูญเสียฟันถาวร เป็นไปตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP&P Excellence) ที่ตั้งเป้าให้ประชาชนอายุ 80 ปี มีฟันแท้ใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ การมีสุขภาพช่องปากที่ดีจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สุขภาพองค์รวมของประชาชนดีขึ้น

นพ.สุขุม กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2560 พบว่า สภาวะสุขภาพช่องปากของประชากรไทยมีแนวโน้มในภาพรวมดีขึ้น โดยโรคฟันผุในเด็กอายุ 5 และ 12 ปี ลดลง จำนวนฟันถาวรที่ใช้เคี้ยวอาหารได้ในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และอัตราการสูญเสียฟันในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุลดลง แต่การเข้าถึงบริการของแต่ละกลุ่มวัยยังต่ำ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน พบว่าได้รับการตรวจฟันไม่ถึงร้อยละ 50 รวมทั้งกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและฮอร์โมน ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์และโรคฟันผุ

“การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในครั้งนี้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการมากขึ้น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก ขัดและทำความสะอาดฟัน รวมทั้งเด็กวัยเรียน (อายุ 4-12 ปี) สามารถเข้ารับบริการเคลือบฟลูออไรด์และเคลือบหลุมร่องฟันได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image