บอร์ดสปสช.เล็งปรับรูปแบบ ‘จ่ายยาใกล้บ้าน’ พื้นที่กรุงเทพฯ ให้เภสัชฯประจำร้านจัดตามใบสั่งแพทย์

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลัดกประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยา หรือโครงการรับยาใกล้บ้านลดความแออัดในโรงพยาบาล ว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้รับทราบมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 35 แห่ง จากเป้าหมาย 50 แห่ง และมีร้านยาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 300 ร้าน จากเป้าหมาย 500 ร้าน

“สำหรับโรงพยาบาลทั้ง 35 แห่ง มีการใช้รูปแบบการจัดบริการแบบที่ 1 คือ โรงพยาบาลเป็นผู้จัดยาให้ร้านยา จำนวน 27 แห่ง และเลือกใช้รูปแบบที่ 2 คือ โรงพยาบาลส่งยาสำรองไว้ที่ร้านยาเพื่อให้ร้านยาจัดยาให้ผู้ป่วย 8 แห่ง โดยดำเนินการในกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด ไขมันในเลือดสูง 26 แห่ง และมีเพิ่มเติมโรคอื่นๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็งเต้านม หลอดเลือดทางสมอง ลมชัก อีก 6 แห่ง ส่วนอีก 3 แห่งดำเนินการในกลุ่มโรคจิตเวช” นพ.จักรกริช กล่าวและว่า ข้อมูลผลการดำเนินงานจากที่บันทึกผลการเบิกจ่ายเข้ามาแล้ว มีจำนวนผู้ป่วยรับบริการรวมทั้งสิ้น 22 ราย เชื่อว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขข้อมูลการรับบริการจริงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม หรือเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ส่วนผลบริการผ่านสายด่วน สปสช. 1330 มีการสอบถามข้อมูลและเสนอแนะรวมทั้งสิ้น 93 ราย โดยประชาชนส่วนใหญ่สอบถามขอบเขตของการให้บริการ ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการจะสอบถามเกี่ยวกับวิธีการเข้าร่วมและแนวทางการใช้เงินค่าจัดบริการ

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลที่เตรียมจะเข้าร่วมโครงการเฟสถัดไประหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 – มกราคม 2563 มีทั้งสิ้น 16 แห่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการเตรียมการ ขณะที่การทบทวนปรับปรุงกฎหมาย ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการหารือเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างฯ ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งคาดว่าจะเข้าคณะกรรมการนโยบายพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในสัปดาห์หน้า

Advertisement

“มีรายงานความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมว่า ส่วนใหญ่ให้ข้อสังเกตถึงจำนวนการเข้าร่วมของโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยังมีน้อย ขณะที่มีอัตราการเข้าไม่ถึงบริการจากความแออัดสูงสุดเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ จึงต้องมีการขยับเพิ่มปริมาณมากขึ้น เช่นเดียวกับรูปแบบการจัดบริการที่ควรจะถูกพัฒนาไปสู่รูปแบบที่ 3 คือ การให้ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อและสำรองยา รวมทั้งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยตามใบสั่งแพทย์ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของระบบได้อย่างแท้จริง” นพ.จักรกริช กล่าว

ด้าน รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงความสำคัญของการติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย ซึ่งไม่ว่ารูปแบบการจัดบริการจะเป็นแบบใด ควรมีการติดตามการใช้ยาทุกเดือน เพื่อที่ว่าหากมียาเหลือจะสามารถส่งกลับโรงพยาบาลได้

“แต่ในส่วนนี้พบว่า โรงพยาบาลส่วนมากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่อยากให้มีการทอนยา ด้วยเหตุกังวลเรื่องระบบการจ่ายคืนต่างๆ ในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม เราพบปัญหาเยอะในการใช้ยาของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังบางทีใช้ไม่ถูกต้อง ทำให้มียาเหลือใช้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นหากทุกเดือนได้มีการทบทวนกันถึงการใช้ยา เมื่อมีเหลือใช้สามารถส่งกลับโรงพยาบาลได้ น่าจะเป็นหลักการที่ทำให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์มากที่สุด” รศ.ภญ.จิราพร กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image