อย่าเชื่อ–อย่าแชร์! ภาพขนมยี่ห้อต่างๆ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด อย.ยันไม่ได้ห้ามขาย/ห้ามกิน

วันที่ 18 ตุลาคม นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ภาพและข้อมูลทางสื่อโซเชียล แสดงขนมยี่ห้อต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ห้ามจำหน่ายและนำเข้า เนื่องจากมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ห้ามรับประทาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งว่า ภาพและข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง สธ.ไม่ได้ห้ามขาย ไม่ได้ห้ามกินขนมเหล่านี้ ซึ่งประเด็นนี้สืบเนื่องมาจาก สธ.มีการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 ห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ หรือที่เรียกว่าไขมันทรานส์ รวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย นับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นมา โดย อย.ได้มีการควบคุมและกำกับดูแลไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภท เนยเทียม น้ำมันและไขมัน ไอศกรีม ขนมปัง บิสกิต คุกกี้ และได้ติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในสถานที่ผลิต 10 แห่ง จำนวน 38 รายการ สถานที่จำหน่าย 34 แห่ง จำนวน 151 รายการ และสถานที่นำเข้า 4 แห่ง จำนวน 14 รายการ ทั้งหมดไม่พบข้อบกพร่อง บางส่วนมีไขมันทรานส์บ้างในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ นพ.พูลลาภ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ไม่ควรเกินร้อยละ 1 ของค่าพลังงานต่อวัน (ประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) และปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวไม่ควรเกิน ร้อยละ 10 ของค่าพลังงาน (ประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) เนื่องจากไขมันทั้ง 2 ประเภท เป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ใช้กระบวนการอื่นแทนแล้ว และ อย.ได้มีการตรวจติดตามคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขอให้ผู้บริโภคอย่าตระหนกกับข้อมูลที่แชร์ผ่านสื่อโซเชียลดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image