เล็งปรับ ‘ศูนย์บริการคนพิการ’ เป็นสถานบริการสาธารณสุข เพิ่มการเข้าถึง

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” ร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึง-ลดความแออัด เตรียมจัดทำมาตรฐานกลาง กำหนดรายจ่ายค่าบริการฟื้นฟู

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม มีมติเห็นชอบให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้การรับรอง และสถานบริการอื่นที่เข้าเกณฑ์ของ สปสช. เข้าร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานบริการและมาตรฐานหน่วยบริการสำหรับศูนย์บริการคนพิการทั่วไป รวมถึงกำหนดรายการจ่ายสำหรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่คนพิการเพิ่มเติม ที่สามารถใช้จ่ายจากกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ พร้อมกับมอบ สปสช.ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับมติดังกล่าวมีที่มาจากสถานการณ์การเข้าถึงบริการของผู้พิการ ซึ่งผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่าจากจำนวนประชากรผู้พิการทั้งสิ้น 3.7 ล้านคน มีผู้ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการของรัฐ ราว 7.8 แสนคน หรือร้อยละ 21.2 ส่วนข้อมูลการเข้าถึงบริการจากฐานข้อมูลของ สปสช. เดือนมีนาคม 2562 พบว่าจากจำนวนคนพิการ 1 ล้านคน ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ประมาณ 1.5 แสนคน

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมฯ กล่าวว่า แม้จะยังเป็นเพียงข้อเสนอ แต่เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยให้องค์กรภาคประชาสังคมและอาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วม เช่นเดียวกับการดำเนินการให้ผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไปรับยาที่ร้านยา

“ถ้าไปดูตัวเลขจะเห็นชัดเจนว่า คนพิการมีการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่ำมาก ซึ่งคิดว่าการมีส่วนร่วมเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเอง โดยเฉพาะการลดความแออัด เพราะถ้าศูนย์คนพิการสามารถช่วยทำบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค น่าจะทำให้สถานพยาบาลต่างๆ ลดความแออัดลงได้ และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น” น.ส.สารี กล่าวและว่า เรื่องต่อไปคือ การกำหนดเกณฑ์กลาง เช่น ศูนย์บริการที่จะเข้าข่ายมาร่วมให้บริการนั้นต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งในกรณีของร้านยานั้นอาจจะง่ายกว่า เพราะมีผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวข้อง จึงสามารถดำเนินการได้ทันที ขณะที่เรื่องนี้เป็นบริการที่อาจไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพ แต่มีผู้ให้บริการช่วยเหลืออยู่ จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าองค์กรประเภทใดบ้างที่สามารถเป็นหน่วยบริการได้

Advertisement

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาที่ควรใช้กฎหมายหรือช่องทางในขอบข่ายอำนาจเท่าที่ สธ.มี เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการฯ ส่วนใดที่ต้องไปพึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นค่อยพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงประเด็นการใช้อำนาจตามมาตรา 3 ที่สามารถกำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่นได้เอง แทนที่จะรอหน่วยงานอื่นเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน เนื่องจากขณะนี้ได้รอการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อประมวลข้อมูลดูว่า ในส่วนขององค์กรภาคประชาชนที่ดูแลช่วยเหลือในเรื่องนี้ ปัจจุบันมีกี่กลุ่ม และแต่ละกลุ่มทำเรื่องอะไรไปบ้าง ก่อนกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางอย่างรัดกุมรอบคอบ เพื่อให้ครอบคลุมและทั่วถึงแต่ละกลุ่มที่อาจมีลักษณะการให้บริการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ การให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เข้าร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นั้น มีที่มาจากข้อเสนอที่ได้จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายคนพิการปี 2561 จนนำไปสู่การมีมติบอร์ด สปสช.ครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image