เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุราพบ “อนุทิน” แฉกลยุทธ์ใช้ “แบรนด์ดีเอ็นเอ” โฆษณาน้ำดื่ม โซดา เลี่ยงกม.คุมเหล้า

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่กว่า 10 คน เข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรียกร้องให้หาทางออกกรณีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้กลยุทธ์ตราเสมือน หรือ แบรนด์ดีเอ็นเอ (DNA) จงใจโฆษณาเพื่อหลบเลี่ยงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้นำรายงานการวิจัยล่าสุดเพื่อยืนยันปัญหาตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นการตั้งใจหลบเลี่ยงกฎหมายมอบให้แก่นายอนุทินด้วย

นายคำรณ กล่าวว่า เครือข่ายฯ เป็นองค์กรภาคประชาสังคมมีสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศ ทำหน้าที่ช่วยกันติดตาม เฝ้าระวัง รณรงค์ให้สังคมเท่าทันกลยุทธ์ธุรกิจสุรา และรณรงค์การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ จากการสำรวจทั่วประเทศปรากฏพบป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายจำนวนมาก รวมทั้งการโฆษณาผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ และทำกิจกรรมการตลาด เช่น จัดดนตรีโดยใช้ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง เป็นต้น ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งล่าสุด ให้ดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนนั้น เครือข่ายฯ เห็นว่าปัญหานี้ยืดเยื้อมาหลายรัฐบาล ไม่ได้มีการจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีการโฆษณาที่หลบเลี่ยงกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเต็มเมือง

“เครือข่ายฯ สนับสนุนรัฐมนตรีว่าการ สธ.ให้เข้มงวดกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมอบรายงานการเฝ้าระวังการใช้ตราเสมือนของสินค้าแอลกอฮอล์ที่กำลังกระจายอยู่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งรายงานการวิจัยการรับรู้ประชาชนต่อการโฆษณาโดยใช้ตราเสมือน หรือ แบรนด์ดีเอ็นเอ เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป” นายคำรณ กล่าว

Advertisement

ด้าน ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า จากข้อมูลการวิจัยการรับรู้และการจดจำของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านแบรนด์ดีเอ็นเอ พบว่า ไม่ว่าธุรกิจแอลกอฮอล์จะปรับแต่งหรือดัดแปลงตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ดังเช่น การดัดแปลงไปใช้กับผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม น้ำแร่ หรือน้ำโซดา หากว่ายังมีการใช้แบรนด์ดีเอ็นเอของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเบียร์มาประกอบการโฆษณานั้นๆ ประชาชนที่พบเห็นมากกว่าร้อยละ 65 ก็ยังคงรับรู้และจดจำว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเบียร์อยู่ และส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้ามากกว่าร้อยละ 78 ส่วนในด้านการจูงใจผู้พบเห็นชิ้นงานโฆษณาหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่รับว่ามีผลในการจูงใจโดยอ้อมกว่าร้อยละ 48 ส่วนอีกกว่าร้อยละ 23 เห็นว่ามีผลในการจูงใจโดยตรง เว้นแต่กรณีการใช้แบรนด์ดีเอ็นเอในการจัดแสดงสินค้า ณ จุดขาย ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นว่า มีผลในการจูงใจโดยมากกว่า ทั้งนี้สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ การรับรู้ของเด็กและเยาวชนสามารถเห็นโฆษณาได้ตลอดเวลาแบบนี้จะสร้างการจดจำ สร้างรู้สึกดีกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้นๆ ส่งผลต่อปัญหานักดื่มหน้าใหม่ที่นับวันอายุยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image