แพทย์แผนไทยฯ เตือนอย่าซื้อ “ยาดอง” กิน ชี้ไม่ใช่ยาบำรุงร่างกาย

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต จ.ชลบุรี หลังจากซื้อยาดองสูตรใหม่ ที่ผสมด้วยรากสามสิบ คางคก และเหล้าขาว ว่า ในภูมิปัญญาดั้งเดิมและตำราแผนไทยก็มีเรื่องของยาดอง แต่ยาดองเป็นแค่ส่วนประกอบในการปรุงยาของหมอแผนไทย

“จะต้องมีการนำไปเข้าสูตรตำรับอีก ไม่ได้เอามาใช้เอามากินแบบเดี่ยวๆ หรือเอามากินกันเอง จะต้องสั่งใช้โดยแพทย์แผนไทยหรือหมอแผนไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะทราบว่าจะต้องนำไปผสม นำไปปรุงกับยาหรือสมุนไพรตัวไหน ใช้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษา ไม่เกิดพิษต่อผู้ป่วย เรียกว่า เป็นการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย การปรุงยาทางแผนไทยจะมีทั้งพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ โดยส่วนใหญ่สัตว์วัตถุจะอยู่ในรูปของยาดอง โดยอาจดองเพื่อทำลายพิษ ซึ่งสัตว์ที่เอามาดองก็มีหลากหลาย แต่ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ผนไทยฯ ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องของการใช้สัตว์วัตถุ จึงไม่ค่อยมีงานวิจัย แต่จะเน้นการใช้พืชสมุนไพรเป็นหลัก เพราะบ้านเรามีมาก แต่สัตว์วัตถุส่วนใหญ่เป็นสัตว์สงวน เช่น ดีหมี อุ้งตีนเสือ ฯลฯ ถือว่าเป็นสัตว์ต้องห้าม ส่วนสัตว์ทั่วไปอย่างตุ๊กแก คางคก ก็ต้องยอมรับว่ามีพิษ ดังนั้น คนที่จะนำมาใช้จึงต้องเป็นแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญ รู้ว่าจะสกัดพิษออกอย่างไร นำไปใช้อย่างไร จึงแนะนำว่า ประชาชนทั่วไปไม่ควรไปหาซื้อมากินกันเอง เพราะไม่ใช่ยาบำรุงร่างกายทั่วไป แต่ควรไปพบหมอแผนไทยที่เชี่ยวชาญ” นพ.ปราโมทย์ กล่าว

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปไม่ควรทำยาดองเอง เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ ที่สำคัญการทำยาดองเอง โดยไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพที่เชี่ยวชาญเพื่อรักษาผู้ป่วย ก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย เพราะการดองส่วนใหญ่แอลกอฮอล์จะเกินปริมาณที่กำหนดอยู่แล้ว อาจเข้าข่ายเป็นการต้มเหล้าเถื่อน และเป็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงยาดองว่า หากผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ที่มีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง และนำมาใช้รักษาผู้ป่วยของตนก็ไม่มีปัญหา แต่ทุกวันนี้ปัญหาเกิดจากคนทั่วไปทำยาดอง เอามาดื่มเอง หรือนำไปขาย ซึ่งอาจผิดกฎหมายหลายมาตรา เพราะการทำยาดองต้องมีแอลกอฮอล์เกินกำหนด 0.5% แน่นอน เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.สรรพสามิต ในการผลิตสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และหากมีการขายให้คนทั่วไปก็อาจผิดฐานขายโดยไม่มีใบอนุญาตขายด้วย นอกจากนี้ อาจผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ด้วย เพราะอาจขายในที่สาธารณะ ขายให้เด็กอายุต่ำกว่าที่กำหนด หรือขายผิดเวลาที่กำหนด

Advertisement

“ยาดองยังนำไปสู่การติดเหล้าด้วย เพราะมีการอ้างสรรพคุณ เช่น โด่ไม่รู้ล้ม ก็จะชวนให้เกิดการดื่มจำนวนมาก ดื่มจนติด หรือในหญิงตั้งครรภ์และคลอดลูกก้มีความเชื่อที่ต้องดื่มบำรุงร่างกาย ซึ่งตรงนี้อันตรายกับเด็กในท้อง และทารก ซึ่งอาจได้รับผ่านทางน้ำนมแม่ และการดื่มติดต่อกันก็เจอหลายรายที่นำไปสู่การติดเหล้าประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ การดองเองเช่นนี้อาจเกิดเมทิลแอลกอฮอล์ขึ้นได้ ซึ่งมีผลทำให้ตาบอดได้อีก” ภก.สงกรานต์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image