อย.เผยประกาศ ‘กัญชง’ ฉบับใหม่กำหนดทีเอชซี1% ในช่อ-ดอก เปิดช่องหลากสายพันธุ์จดทะเบียนถูกกม.

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ โดยกำหนดให้มีการยกเลิกประกาศฉบับเดิม และให้ประกาศฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ทันทีในวันถัดไปหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งสาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่นี้ คือ ได้กำหนดให้กัญชงต้องมีสารทีเอชซี (THC) ในใบและช่อดอกไม่เกินร้อยละ 1 ต่อน้ำหนักแห้งในการตรวจวิเคราะห์ และเมล็ดพันธุ์กัญชงให้มีสารทีเอชซีไม่เกินร้อยละ 1 ต่อน้ำหนักแห้งโดยการตรวจวิเคราะห์ และเป็นพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช โดยประกาศฉบับนี้จะไม่มีผลบังคับใช้กับกรณีกัญชงที่ปลูกอยู่ก่อนประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ รวมถึงเมล็ดพันธุ์ที่รับรองแล้วก่อนประกาศมีผลบังคับใช้

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการออกประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ.2562 โดยกำหนดให้กัญชงและเมล็ดพันธุ์รับรองมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (ทีเอชซี) ในใบและช่อดอก ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อน้ำหนักแห้ง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์กัญชง โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง เปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์กัญชงอย่างคุ้มค่านอกเหนือจากเส้นใย เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เช่น ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เส้นใย สิ่งทอ ฉนวนกันความร้อน ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน ส่วนร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้นำขึ้นรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม – วันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 และจะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 9.30 น. ที่ อย.

ทางด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า การปรับขนาดของทีเอชซีในกัญชงเป็นร้อยละ 1 จะมีประโยชน์ 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.มีกัญชงในประเทศไทยอีกหลายสายพันธุ์ที่มีความเข้มข้นทีเอชซีมากกว่าร้อยละ 0.2 ดังนั้นก็สามารถที่จะได้ซีบีดีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีสายพันธุ์เหล่านี้ในประเทศไทยขึ้นมาจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายรวมกระทั่งถึงสายพันธุ์ที่ชาวม้งมีอยู่ และ 2.การปรับเปลี่ยนความเข้มข้นดังกล่าว นำมาซึ่งการใช้กัญชงที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยโดยไม่ต้องคำนึงถึงการที่ต้องสั่งจากต่างประเทศอย่างเดียว

“ซึ่งตรงกับหลักที่ว่าประเทศไทยควรจะต้องรู้ว่า เรามีอะไรที่เป็นสมบัติของชาติอยู่แล้วก่อน ก่อนที่จะเชื่อสิ่งที่ต่างประเทศแนะนำอย่างเดียว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image