“อนุทิน” ตรวจโรงงาน อภ. รับปากทวงคืนหนี้ 5 พันล้าน วอน ปชช.ปรับทัศนคติ “กัญชา” เพื่อการแพทย์

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำคณะไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 และติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต 2 และโครงการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ อภ.มีการดำเนินการที่ก้าวหน้า มีศักยภาพ และประสิทธิภาพ ดีไม่มีที่ติ ไม่น่าเป็นห่วง ถือว่าเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของ สธ.ที่แข็งแรง สามารถทำกำไรทุกปี เมื่อเทียบกำไรกับรายได้ถือว่าอยู่ในระดับที่เหนือกว่ามาตรฐานธุรกิจทั่วไป เพราะแม้ สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ค้างหนี้รวมกว่า 5,000 ล้านบาท ก็ยังอยู่ได้

Advertisement

“ผมจะรับหน้าที่ทวงหนี้จากทั้ง 2 หน่วยงานนี้ ให้ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ สธ. และประธานบอร์ด สปสช. เพราะขณะนี้ สธ.เป็นหนี้ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ สปสช.ค้าง 2,000 ล้านบาท ในฐานะลูกหนี้ก็ควรต้องใช้ และไม่ควรมีหนี้เกิดขึ้น ผมได้มอบหมายให้รองปลัด สธ.ด้านบริหารไปดูว่า ทำไมจึงมีการค้างชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนี้สะสมมาตั้งแต่ปี 2556 ส่วนสาเหตุของการติดหนี้ยังไม่ขอพูดถึง อย่างไรก็ตาม การใช้หนี้คงไม่สามารถใช้คืนทีเดียวได้ อาจจะต้องทยอยผ่อนชำระหนี้ ซึ่งงบด้านสาธารณสุขที่ได้รับ 2.8 แสนล้านบาท ก็จะนำมาบริหาร คาดว่าจะทยอยจ่ายคืนภายใน 3 ปี และตั้งงบใหม่ปี 2564 เพื่อชำระหนี้โดยเฉพาะ จะได้ไม่ต้องอยู่ในบัญชีลูกหนี้อีกต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

นอกจากนี้ นายอนุทิน กล่าวถึงโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ว่า หากสำเร็จก็จะเป็นแหล่งผลิตยาชื่อสามัญที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่โรงงานแห่งนี้ไม่ได้สร้างเพื่อทำกำไร แต่เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพราะหากมีภัยพิบัติ หรือโรคระบาดจะสามารถรับมือได้ คนไทยได้รับการคุ้มครอง

“ได้มอบนโยบายให้ อภ. นำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกมาใช้ตลอดกระบวนการผลิตยา ซึ่งได้รับการรับรอง WHO Prequalification Program (WHO PQ) ขององค์การอนามัยโลก เป็นโรงงานแห่งแรกของไทยและอาเซียนที่ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์เอฟฟาไวเรนส์ (Efavirenz Tablets 600 mg) ทำให้เพิ่มโอกาสกระจายยาของไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศได้อีกทางหนึ่ง สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่ 2 จะเป็นสมาร์ท อินดัสตรี (Smart Industry) รองรับการผลิตยาจำเป็น ยากลุ่มโรคเรื้อรัง และยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ที่มีคุณภาพและปริมาณการผลิตสูง ตามมาตรฐานคุณภาพและเทคโนโลยีระดับสากล เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการผลิตยาจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เร่งสร้างสรรค์วิจัยพัฒนายาเชิงนวัตกรรมให้เท่าทันรูปแบบการรักษาแบบใหม่ รวมทั้งผลิตวัคซีนป้องกันโรคและผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของคนไทย ลดการนำเข้ายาต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านยาให้กับประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ คาดว่าจะเปิดทำการผลิตได้ในปี 2565” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน ยังกล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมโครงการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ว่า สำหรับการผลิตยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ให้นำสรรพคุณเด่นของสมุนไพรแต่ละชนิดมาใช้ทางการรักษาและดูแลสุขภาพ มีประสิทธิผลเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และสร้างเครือข่ายกับภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินการให้ครบวงจรยิ่งขึ้นตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ยกระดับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรให้เป็นไปตามแนวทางของมาตรฐานตามสากล มีรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และรูปแบบการใช้ทางการแพทย์ให้ทันสมัย ร่วมมือกับแพทย์ศึกษาวิจัยประสิทธิผลเพื่อให้แพทย์เกิดความเชื่อมั่นต่อยาจากสมุนไพรมากขึ้น เกิดการใช้มากขึ้น และได้ข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานด้านเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น กัญชาที่ อภ. เริ่มต้นปลูกเป็นเมดิคัลเกรด ได้ต้นแบบการปลูกกัญชาระดับเมดิคัลเกรดของประเทศ ทำให้หลายองค์กรและเกษตรกรตระหนักถึงมาตรฐานของวัตถุดิบจากสมุนไพรมากยิ่งขึ้น

“เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นต้นกัญชา ที่มีความแข็งแรงและสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าจะนำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนได้มาก ผู้เชี่ยวชาญในการปลูกมีความรู้ในเรื่องของต้นกัญชาเป็นอย่างดี สามารถแยกได้ว่าต้นไหนเป็นสารทีเอชซี (THC) หรือเป็นสารซีบีดี (CBD) ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าหากนำไปใช้ประโยชน์ ก็จะได้ประโยชน์ และการนำไปใช้เป็นโทษนั้นสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมองกัญชาใหม่ ไม่มีพรรคการเมืองไหนผลักดันกัญชาเพื่อความสนุก เฮฮา แต่เป็นการปลูกเพื่อการแพทย์” นายอนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image