วิกฤต‘คลังเลือด’ เชิญร่วมบริจาค ช่วยชีวิตผู้ป่วย

วิกฤต‘คลังเลือด’
เชิญร่วมบริจาค
ช่วยชีวิตผู้ป่วย

ลองหลับตานึกภาพตัวเองประสบอุบัติเหตุ หรือญาติสนิทมิตรสหายเจ็บป่วย มีความจำเป็นต้องใช้เลือดในการรักษา แต่ปรากฏว่าเลือดในโรงพยาบาลขาดแคลน ไม่เพียงพอ คงสร้างความวิตกทั้งกับคนป่วยและผู้ใกล้ชิดเหมือนกัน

กังวัลกับความสุ่มเสี่ยงภาวะวิกฤตยิ่งขึ้น

ปัญหาข้างต้นอาจกำลังเกิดขึ้นกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่ทำหน้าที่แจกจ่ายโลหิตให้กับโรงพยาบาลต่างๆ

Advertisement

ข้อมูลสถานการณ์ความต้องการเลือดในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา ปริมาณเลือดสำรองในคลังของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีผู้บริจาคโลหิตลดน้อยลง

ปกติจะต้องได้รับโลหิตบริจาคตามเป้าหมายคือ 2,000-2,500 ยูนิตต่อวัน

แต่ปัจจุบันได้รับโลหิตบริจาคเฉลี่ย 1,500-1,700 ยูนิตต่อวันเท่านั้น เกิดการขาดแคลนสะสม ปริมาณโลหิตคงคลังลดน้อยลงไป

น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดให้ผู้ป่วย รวมทั้งผู้ป่วยเด็กโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่อง โรงพยาบาลบางแห่งต้องเลื่อนการผ่าตัดผู้ป่วยออกไปก่อน
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเร่งรณรงค์ให้ประชาชนไปร่วมบริจาคโลหิตกันมากๆ

สถานการณ์การขาดแคลนโลหิตสำรองดังกล่าว น.ส.ภาวิณี คุปตะวินทุ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตามปกติศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะได้รับโลหิตบริจาค 2,000-2,500 ยูนิตต่อวัน

แต่ ณ ขณะนี้นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับโลหิตบริจาคลดลงเรื่อยๆ เหลือ 1,600-1,700 ยูนิตต่อวัน ส่งผลให้มีโลหิตสำรองจ่ายให้โรงพยาบาลลดลงตาม พบว่าขณะนี้ในโรงพยาบาลบางแห่งต้องเลื่อนการผ่าตัดผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งผู้ป่วยเด็กโรคเลือดได้รับเลือดล่าช้าออกไป เพื่อรอให้ได้โลหิตสำรองเพียงพอก่อนทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วย

“ปกติโรงพยาบาลทั่วประเทศขอเบิกโลหิตสำรวจทุกหมู่มายังศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ เฉลี่ยรวม 2,600-3,000 ยูนิตต่อวัน แต่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จ่ายให้ได้เฉลี่ย 1,600-2,000 ยูนิตต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 50 ของยอดเบิก ทำให้โรงพยาบาลต้องเลื่อนการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายออกไปก่อนŽ”

น.ส.ภาวิณี กล่าวว่า การขาดแคลนโลหิตมีเป็นประจำทุกปี จากการวิเคราะห์พบว่าช่วงที่ขาดแคลนมากที่สุดคือ เดือนเมษายนและเดือนตุลาคมของปี คาดว่าสาเหตุที่ขาดแคลนในช่วงนี้เพราะผู้บริจาคส่วนใหญ่มักจะมีกิจกรรมอื่น เช่น เดือนเมษายนมีวันหยุดยาวจึงไปท่องเที่ยวพักผ่อน หรือเดือนตุลาคมที่เป็นช่วงเด็กปิดภาคเรียน อีกทั้งโดยปกติผู้ที่สามารถบริจาคโลหิตได้ควรบริจาคปีละ 4 ครั้ง แต่จากการสำรวจพบว่าผู้บริจาคส่วนใหญ่ยังบริจาคไม่สม่ำเสมอ เฉลี่ยบริจาคคนละ 1-2 ครั้งต่อปี ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสะสม ดังนั้น ที่ผ่านมาสภากาชาดไทยจึงได้ทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างหนักให้ร่วมบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มการจัดกิจกรรมพิเศษ จัดแคมเปญในช่วงที่คาดว่าจะขาดแคลนโลหิตด้วย

น.ส.ภาวิณีกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้โลหิตสำรองมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนภาคกลางและภาคใต้ก็มีความต้องการเช่นกันแต่น้อยกว่า 2 พื้นที่แรก ขณะนี้ยังมีความต้องการโลหิตสำรองทุกหมู่ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์บริการโลหิตฯ สภากาชาดไทย ศูนย์รับบริจาคโลหิต และพลาสมา สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค หรือบริจาคได้ที่สาขาบริการโลหิต 6 แห่งในกรุงเทพมหานคร

ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) ตำรวจ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.รามาธิบดี รพ.ภูมิพลอดุลยเดช สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า และ รพ.วชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ส่วนภูมิภาคสามารถบริจาคได้ที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ และงานบริการโลหิต 13 แห่ง ได้แก่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.ลพบุรี จ.ชลบุรี จ.ราชบุรี จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.อุบลราชธานี จ.นครสวรรค์ จ.พิษณุโลก จ.เชียงใหม่ จ.นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) จ.สงขลา จ.ภูเก็ต และงานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสาขาบริการโลหิตโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ

นักเทคนิคการแพทย์หญิง สุภัตตรา มิถุนดี หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 12 จังหวัดสงขลา สภากาชาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์การขาดแคลนโลหิตในพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัดภาคใต้ ถือว่าขาดแคลนเหมือนกันหมด โดยเฉพาะโลหิตกรุ๊ปเอ ที่ในแต่ละวันมีความต้องการใช้ประมาณ 200 ยูนิต แต่มีสต๊อกอยู่เพียงประมาณ 20 ยูนิต ทำให้ต้องการบริหารจัดการ โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ขาดแคลนโลหิตมากกว่าที่อื่น เนื่องจากการออกหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่มีน้อยกว่าจังหวัดอื่น ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนจังหวัดสงขลามีความต้องการใช้โลหิตไม่น้อยกว่า 5 พันยูนิต แต่ที่รับบริจาคได้มีเพียง 3 พันยูนิตเท่านั้น ทำให้ไม่เพียงพอ

อยากจะเชิญชวนหน่วยงานที่ทราบข่าว เข้าร่วมในการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ได้ทุกวัน รวมถึงหากหน่วยงานใดต้องการจะบริจาคสามารถประสานงานได้ทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image