‘หมอธีระวัฒน์’ เชื่อรัฐบาลไทยจะไม่อ่อนไหวตามแรงกดดันของสหรัฐ

“หมอธีระวัฒน์” เชื่อรัฐบาลไทยจะไม่อ่อนไหวตามแรงกดดันของสหรัฐ

วันที่ 26 ตุลาคม นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟชบุ๊ก ระบุว่า การต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรงครั้งนี้ ที่ประเทศไทยต้องยืนหยัดต่อสู้กับการแทรกแซงกิจการภายในจากรัฐบาลต่างประเทศและบรรดาบริษัทข้ามชาติ #เพราะเราต่างก็รู้ดีว่า ทั้งไกลโฟเซต และพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานไกลโฟเซตนั้น มีบริษัทมอนซานโต้เป็นผู้ครอบครองตลาด

พวกเขาผลักดันพืชจีเอ็มก็เพื่อจะได้ขายไกลโฟเซตมากขึ้น ในขณะที่การแบนไกลโฟเซตก็จะทำให้ตลาดพืชจีเอ็มที่มียีนต้านทานไกลโฟเซตที่มอนซานโต้เป็นผู้ผูกขาดจะถูกปิดตายในอนาคตไปด้วย ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องทั้งส่งเสริมพืชจีเอ็มโอและค้านการแบนไกลโฟเซตไปพร้อมๆ กัน

ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลเวียดนามประกาศห้ามนำเข้าไกลโฟเซต นาย Sonny Perdue รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสหรัฐ กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเวียดนามว่า การแบนไกลโฟเซต ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการผลิตทางการเกษตรทั่วโลก แต่รัฐบาลเวียดนามตอบโต้กลับอย่างรวดเร็วว่า “การตัดสินใจของเวียดนามเป็นไปตามกฎหมายภายในของเวียดนาม ระเบียบระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจของเรา”

Advertisement

นพ.ธีระวัฒน์ระบุด้วยว่า แผนภาพขององค์กรชื่อ Food Democracy Now ในสหรัฐ ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และบทบาททับซ้อนของผู้มีบทบาททางการเมือง หน่วยงานของรัฐในสหรัฐกับบริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์ไกลโฟเซตและพืชจีเอ็ม RoundUp Ready ตัวอย่างความสัมพันธ์ทับซ้อน เช่น Mickey Kantor บอร์ดของมอนซานโต้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐ Linda Fisher รองประธานบริษัท ฝ่ายรัฐกิจและประชาสัมพันธ์ ต่อมาได้รับตำแหน่งรองประธานฝ่ายบริหารของ EPA เป็นต้น

“การแทรกแซงของสหรัฐในกิจการภายในของเรา ชี้ให้เห็นแล้วว่าการแบนพาราควอตและไกลโฟเซตนั้น มิได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐด้วย รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยควรตอบโต้เฉกเช่นรัฐบาลเวียดนาม โดยควรตอบกลับทูตสหรัฐไปว่า นี่เป็นกิจการภายในของประเทศไทยที่ การแบนสารพิษนี้เป็นไปเพื่อคุ้มครองเกษตรกรและผู้บริโภค เป็นไปตามกฎหมายของไทย และสอดคล้องกับรายงานเกี่ยวกับรายงานความเป็นพิษขององค์การอนามัยโลกว่าไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็ง หน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐที่สมควรทำคือการดูแลประชาชนของตนเอง ไปบังคับคดีให้บริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวอเมริกันที่ป่วยเพราะโรคมะเร็งจากไกลโฟเซต ตามคำตัดสินของศาลสหรัฐโดยเร็วต่างหาก เราเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะไม่อ่อนไหวตามแรงกดดันของสหรัฐ” นพ.ธีระวัฒน์ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image