‘หม่อมเต่า’ งง! สหรัฐตัด ‘จีเอสพี’ นัดถกทีมงาน 27 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) ของไทยในอีก 6 เดือน อ้างว่าไทยไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล ว่ารับทราบเรื่องนี้แล้ว โดยในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ เวลา 14.00 น. ได้เชิญนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารในกระทรวงหารือเป็นกรณีพิเศษที่กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า ในส่วนของปัญหาด้านแรงงานนั้น ขณะนี้มีเพียงปัญหาการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะเรื่องของแรงงานภาคประมงที่ยังมีข้อสังเกตว่าไทยยังไม่ทำตามหลักสากล

“ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของความมั่นคงจึงต้องมีการทำงานประสานกับหน่วยงานภายนอกด้วย ทั้งนี้ ที่สหรัฐให้เวลา 6 เดือน มั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาได้จนเป็นที่พอใจ แต่ปัญหาคือ ในการขู่ตัดจีเอสพีของสหรัฐครั้งนี้จะต้องมาวิเคราะห์ด้วยว่าเป็นเฉพาะเรื่องของแรงงานหรือมีอย่างอื่นผสมอยู่ด้วยหรือไม่ ถ้ามี เรื่องนั้นคืออะไร ดังนั้นจึงต้องมาหารือกัน ผมไม่อยากวิเคราะห์เองหรือพูดไปมากกว่านี้เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับที่ไทยแบน 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า 3 สารนี้ใครผลิตบ้าง และถ้าเราแบนจะกระทบอะไรกับเขาบ้าง ตอนนี้จึงไม่อยากพูดอะไรมาก ดังนั้นเรื่องนี้ขอให้มีการประชุมหารือกันก่อน

Advertisement

ด้านนายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มที่ทำงานในประเทศไทย ว่าในส่วนของแรงงานประมงมีการแก้ไขและออกระเบียบเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งพบว่าช่วยแก้ปัญหาการกระทำผิดของเจ้าของเรือประมงได้มาก ส่วนเรื่องการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้าย ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่ามีการป้องกันการใช้แรงงานเด็กในระดับดีที่สุดถึง 2 ปีซ้อน แต่ล่าสุดได้รับการประเมินว่าไทยอยู่ระดับกลาง โดยให้เหตุผลว่าไทยยังมีการจัดชกมวยเด็ก และยังมีเรื่องเกี่ยวกับการนำเด็กไปเป็นผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

“ส่วนการใช้แรงงานทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ เดิมเมื่อปี 2558 ไทยอยู่ระดับเทียร์ 3 หลังจากนั้นก็ถูกจัดอยู่ที่เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ คงอยู่ตรงนี้ประมาณ 2 ปี ล่าสุดถูกจัดอยู่ในระดับเทียร์ 2 สำหรับเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานตอนนี้มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับสากล ทำให้การคุ้มครองแรงงานของไทยดีขึ้นมาก

นายสมบูรณ์กล่าวถึงการอ้างปัญหาแรงงานไม่เป็นไปตามหลักสากลว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งสหรัฐพยายามให้ไทยรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (โอแอลโอ) 2 ฉบับคือ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งฉบับที่ 87 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงาน โดยแรงงานไทยนั้นเราได้อนุญาตให้ตั้งสหภาพอยู่แล้ว แต่ต่างชาติหรือต่างด้าวยังไม่ให้ ส่วนอนุสัญญาฉบับที่ 98 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ไทยจะให้การรับรองฉบับที่ 98 ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการรับรอง โดยมีการแก้กฎหมาย 2 ฉบับ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับ 98 คือ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งต้องเดินกระบวนการทางรัฐสภา และคาดว่าอาจจะใช้เวลาเป็นปี แต่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ คือ C188 ว่าด้วยเรื่องการทำงานภาคประมง

“แต่สหรัฐยังมองว่าบ้านเราไม่ให้สิทธิคนต่างด้าวในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ที่เรายังไม่ให้สิทธิมีหลายประเด็น รัฐบาลเองก็คิดว่าจะให้การรับรองฉบับแรกก่อน คือฉบับ 98 อย่างไรก็ตาม เรื่องการรวมตัวกัน เราพยายามดำเนินการ เช่น แก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้ลูกจ้างต่างด้าวสามารถร่วมเป็นสมาชิกสหภาพได้ และสามารถเป็นกรรมการได้สัดส่วน 1 ใน 5 ของกรรมการทั้งหมด” นายสมบูรณ์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image