โรงไฟฟ้าขยะชุมชน-การมีส่วนร่วม ตัวจัดการ ขยะเมือง

จากข้อมูลของกรมครบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พบว่า ประเทศไทยมีขยะรวมกันทั่วทั้งประเทศมากถึง 27.93 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณ 76,520 ตันต่อวัน เฉลี่ยคนไทยทิ้งขยะมากถึง 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

โดย จ.ระยอง ที่เป็นเมืองศูนย์กลางของภาคตะวันออก ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมีปริมาณขยะมากถึง 967.8 ตันต่อวัน หรือเทียบได้กับรถบรรทุกสิบล้อจำนวน 200 คัน ขยะจึงเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่งในสามจังหวัดของพื้นที่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และในอนาคตเมืองมีการถูกพัฒนามากขึ้น จึงคาดว่าจะทำให้เกิดปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นไปด้วย เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง รวมถึงเมื่อนำการมีส่วนร่วมมาช่วยแก้ไข ทางจังหวัดระยองได้รับความร่วมมือจาก ปตท.ที่ได้เข้ามาสนับสนุนการจัดการปัญหาขยะของจังหวัดระยอง ในรูปแบบของโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สามารถแก้ปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้น และมาพัฒนาเป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

การแก้ปัญหาขยะที่ยั่งยืนจะเกิดได้นั้นขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่ การมีส่วนร่วมมาช่วยแก้ไข

Advertisement

และขยะก็อาจจะกลับมาสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 480,000 หน่วยต่อวัน หรือกว่า 14,400,000 หน่วยต่อเดือน สามารถจ่ายเข้าระบบไฟฟ้าเพื่อใช้งานได้กว่า 38,000 ครัวเรือน

ซึ่งการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวเอง เพื่อให้เมืองเติบโตไปได้ไกลปราศจากขยะ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จะมีการจัดสัมมนา ASEAN summit’s side event on Circular Economy, Waste Management and Sustainability ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายนศกนี้ ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ มีทั้งตัวแทนจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนของประเทศไทยในบริบทเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรมด้วยนวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่ เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ ประเทศไทยจึงได้สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม ที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมสู่ ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นต้นแบบของการพัฒนา และเตรียมขยายรูปแบบทั่วประเทศ ซึ่งการพัฒนาใน EEC จากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นฐานในการพัฒนา

ส่วนในลำดับขั้นต่อมา คือ การพัฒนาเมืองใหม่ที่ตอบสนองการอยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการคาดการณ์ผลทางเศรษฐกิจจากการพัฒนา EEC จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด เพิ่มจาก 2.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 5.6 ล้านล้านบาท ในปี 2570 ในขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรจาก 4.0 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 4.8 ล้านคนในปี 2570 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมทั้งประชากร ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“การพัฒนาในพื้นที่ EEC จึงไม่ได้มีเพียงแต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการเตรียมออกแบบการใช้พื้นที่ การออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายของประชากร โดยเน้นการทำงานให้ประชาชนมีส่วนร่วมและผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการทางสิ่งแวดล้อม เช่น การบริหารจัดการน้ำ การลดก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญคือการจัดการขยะ โดยทุกนโยบายและยุทธศาสตร์จะดำเนินการควบคู่กับการสร้างจิตสํานึกสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วน เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนต้องมีภาคประชาชนและเอกชนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งในปัจจุบันภาคประชาชนและท้องถิ่น ได้เริ่มดำเนินการเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว” รัฐมนตรี ทส.กล่าว

ชาวเมืองรวมมือ ร่วมใจ
ขยะกลับมาสร้างคุณค่า
คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image