“พนักงานออฟฟิศ” ระวัง!! แพทย์เตือนใช้ชีวิตในอาคารเสี่ยงโรค “ซิค บิวดิ้ง ซินโดรม”

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโรคอาการอาคารป่วย หรือ ซิค บิวดิ้ง ซินโดรม (Sick Building Syndrome) หรือเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง เช่น วัสดุโครงสร้างของอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร การถ่ายเทอากาศ เป็นต้น แต่จะมีอาการดีขึ้นหากออกจากตัวอาคาร สำหรับอาการป่วยที่พบเมื่ออยู่ในอาคาร คือ เจ็บตา หรือเจ็บคอ แสบร้อนในจมูก มีน้ำมูก หนาว เป็นไข้ ผิวแห้งเป็นผื่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจไม่สะดวก

นพ.มานัส กล่าวว่า นอกจากนี้ โรคดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจ หรือเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สาเหตุแม้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคกลุ่มอาการอาคารป่วย เช่น น้ำยาถูพื้น สารฟอร์มาลดีไฮด์ สีที่ใช้ทาภายในอาคาร อุปกรณ์สำนักงานอย่างจอคอมพิวเตอร์ที่ไม่กรองแสงซึ่งเป็นอันตรายต่อสายตา ฝุ่นภายในอาคาร หรือมลพิษอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง เสียงรบกวน อากาศที่ไม่ถ่ายเท ไฟที่ส่องสว่าง ความร้อนหรือความชื้น แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น

ด้าน นพ.สมบูรณ์  ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) นพรัตนราชธานี กล่าวว่า โรคอาการอาคารป่วยไม่มีอาการที่จำเพาะเจาะจง และอาการหลายอย่างก็คล้ายคลึงกับโรคทั่วไป จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัยโรค อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงาน และสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อหาความเกี่ยวข้องหรือความเป็นไปได้ของการเกิดโรคอาการอาคาร ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถสังเกตตนเองได้ว่าอาการต่างๆ มักเกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่อยู่ภายในอาคารหรือไม่

Advertisement

“วิธีการนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง สำหรับการรักษายังไม่มีวิธีเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการตามที่เป็น และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้อาการกำเริบ โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดีขึ้น เช่น เปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อป้องกันความอับชื้นหรือเชื้อรา ทำความสะอาดสถานที่ทำงานอยู่เสมอ ใช้เครื่องดูดฝุ่นเพื่อลดมลภาวะ ทำความสะอาดเครื่องกรองอากาศเป็นประจำ เปลี่ยนหลอดไฟเพื่อปรับความสว่าง หรือเปลี่ยนจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น” นพ.สมบูรณ์ กล่าวและว่า หากป้องกันเบื้องต้นด้วยวิธีต่างๆ แล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการรักษาเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโดยทันที หรือปรึกษาได้ที่ คลินิกโรคจากการทำงาน กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี ได้ในวันและเวลาราชการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image