กทม.เล็งเพิ่มโทษ ‘ขับบนทางเท้า’ ยึดเสื้อวินจยย.รับจ้าง จ่อถกไลน์แมน-แกร็บ-ลาลามูฟ ไล่ออกพนง.ทำผิด

วันที่ 31 ตุลาคม นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเพิ่มมาตรการลงโทษยึดเสื้อวินผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ หรือวินมอเตอร์ไซค์ ที่ขับขี่บนทางเท้าเป็นเวลา 3 ปี ว่า เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมอบหมายให้ตนและสำนักเทศกิจศึกษาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ในการยึดเสื้อวินและเพิกถอนวินของคนที่ฝ่าฝืน 3 ปี

“วันนี้สำนักเทศกิจได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร เป็นต้น หารือในเรื่องนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ต้องแก้ไขประกาศคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งวินและหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะในกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2561 ซึ่งมีการกำหนดให้เพิกถอนวินมอเตอร์ไซค์ได้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ 1.ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาต 2.เลิกประกอบอาชีพ 3.ทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นอันระงับ 4.ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น เสพสุรา เล่นพนัน บริเวณที่ตั้งวิน 5.เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยเสนอว่าควรมีการเพิ่มเหตุการเพิกถอนในเรื่องของการขับขี่บนทางเท้าเข้าไปด้วย เพื่อไม่ต้องมาตีความใดๆ และสร้างความมั่นใจให้สำนักงานเขตในการดำเนินการ” นายสกลธี กล่าว

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.สามารถเพิ่มเรื่องการขับขี่บนทางเท้าเข้าไปยังเหตุแห่งการเพิกถอนเสื้อวินและวิน มอเตอร์ไซค์ได้ แต่ต้องมีการประชุมคณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ และต้องมีการหารือถึงระดับของการลงโทษว่า จะเป็นขั้นไหนอย่างไร ระยะเวลาเท่าไร อาจจะไม่ใช่ 3 ปี อาจจะเป็น 6 เดือน 1 ปี 2 ปี หรืออาจจะมากกว่า 3 ปี ซึ่งกรมการขนส่งทางบกรับปากในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ว่าจะนัดประชุมในโอกาสต่อไป โดยจะให้สำนักเทศกิจเร่งรัดในเรื่องนี้ และ กทม.จะรวบรวมข้อมูลเรื่องของฐานความผิดที่จะเพิกถอนเสื้อวินให้ครอบคลุมในการพิจารณาด้วย เช่น กรณีการถอดเสื้อวินด้วย เพราะเจตนาส่อว่าหลีกเลี่ยงให้คนไม่รู้เป็นใครในการทำความผิด

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่วินมอเตอร์ไซค์สะท้อนว่าเป็นยาแรง และตัดทางทำมาหากิน นายสกลธี กล่าวว่า ถ้าไม่ขึ้นทางเท้าก็ไม่โดน ถ้าไม่ขึ้น ไม่ฝ่าฝืน ขี่บนผิวจราจร ใครจะไปทำอะไรได้ ถามว่าแรงหรือไม่ ก็ต้องใช้ยาแรงถ้าอยากให้ปัญหาหมดไป แต่คงไม่ได้ 100% เพราะมีความเคยชินมานาน ด้วยความมักง่าย แต่ กทม.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบก็ต้องทำให้ฝ่ายฝืนน้อยที่สุด

“อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ารถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ของคนทั่วไป ซึ่งก็มีมาตรการจับปรับ รองลงมาเป็นวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มพนักงานรับส่งเอกสาร ที่จำนวนพอๆ กัน เพียงแต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อสวมเสื้อวินก็เห็นได้ชัดเจน ในอนาคตอาจประชุมกับบริษัท เช่น LaLa Move  Line Man หรือ Grab Bike ถ้าพนักงานทำผิด ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ออก” นายสกลธี กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงการจับปรับ 2,000 บาท ช่วยลดการกระทำผิดลงได้หรือไม่ นายสกลธี กล่าวว่า ตั้งแต่วนที่ 1 กรกฎาคม 2561 – วันที่ 30 ตุลาคม 2562 ยอดปรับเกือบ 19 ล้านบาท ถือว่ามาก เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ปรับแพงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม.ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในส่วนของภาคประชาชนจำนวน 5,000 คน พบว่า ร้อยละ 92.84 เห็นด้วยการตั้งจุดกวดขันจับปรับจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า ร้อยละ 75.74 เห็นด้วยที่ให้ปรับเป็นเงิน 2,000 บาท แต่ร้อยละ 64.28 เห็นว่าค่าปรับ 2,000 บาท มากเกินไป ร้อยละ 89.82 เห็นด้วยกับนโยบายไม่ให้วินมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า และร้อยละ 71.7 เห็นด้วยในการยึดเสื้อวิน 3 ปี หากขับขี่บนทางเท้า นอกจากนี้ พบว่ามีการเสนอมาตรการลงโทษจากเบาไปหนัก ต้องจับจริงปรับจริง ทำให้เป็นมาตรฐานทุกที่ เป็นต้น ส่วนผลสำรวจของวินมอเตอร์ไซค์ จำนวน 5,000 คน พบว่า ร้อยละ 86.68 เห็นด้วยตั้งจุดจับปรับขับบนทางเท้า ร้อยละ 65.48 เคยจอดหรือขี่บนทางเท้า ร้อยละ 92.44 ยินดีให้ความร่วมมือไม่จอดหรือขับบนทางเท้า ส่วนเรื่องการลงโทษยึดเสื้อวิน 3 ปี เห็นด้วยเพียงร้อยละ 42.08 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 57.92 พร้อมเสนอว่ายึดเสื้อวิน 3 ปีรุนแรงเกินไป เนื่องจากมีโทษปรับอยู่แล้ว ให้ดำเนินการเป็นขั้นตอน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา ยึดใบขับขี่ 1 เดือน หรือ 3 เดือน เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image