คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ฝึกนศพ.ใช้ ‘อัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย’ วินิจฉัยอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน (คลิป)

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวนวัตกรรมการเรียนการสอนทางการแพทย์ด้วย “เครื่องอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สายสำหรับนักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล”

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า การใช้เครื่อง อัลตราซาวด์พกพา ชนิดไร้สาย เป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในทางรังสีวินิจฉัย ซึ่งเครื่องขนาดพกพานี้สามารถส่องทะลุเข้าไปถึงอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วยได้ผ่านการฉายรังสีวิทยา ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับเครื่องอัลตราซาวด์ขนาดใหญ่ แต่มีความสะดวกในการพกพามากกว่า จึงทำให้การวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถทำได้รวดเร็วและลดโอกาสการเสียชีวิตได้

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ได้นำเครื่องอัลตราซาวด์พกพามาใช้ในการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ เพื่อให้เกิดความชำนาญในการใช้เครื่อง ซึ่งนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2-5 จะใช้ 1 เครื่อง ต่อนักศึกษาแพทย์ 2 คน และชั้นปีที่ 6 จะได้คนละ 1 เครื่อง ในระยะแรกนี้ มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 12 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องอัลตราซาวด์พกพา ชนิดไร้สาย จำนวน 200 เครื่อง เฉลี่ยราคาเครื่องละ 60,000 บาท และหากการใช้เครื่องอัลตราซาวด์พกพาในการเรียนการสอนของแพทย์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ในอนาคตก็ควรจะมีการต่อยอดการใช้เครื่องในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยทำได้ทันท่วงที

Advertisement

“เครื่องอัลตราซาวด์พกพา ชนิดไร้สายนี้ ทันสมัยอย่างมาก เนื่องจากเป็นการใช้การเชื่อมต่อผ่านสัญญาณบลูทูธของเครื่องเข้าสู่สมาร์ทโฟนของแพทย์ผู้วินิจฉัย ทำให้รวดเร็วในการเข้าถึงอาการของผู้ป่วย โดยตัวเครื่องมีนำหนักเพียง 300 กรัม และการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังสามารถบันทึกภาพและวิดีโอเข้าสู่สมาร์ทโฟนได้ ทำให้สะดวกต่อการเรียกดู หรือการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยได้ง่ายและใช้เวลาน้อย เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ มีภาวะของปอดรั่ว ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากใช้เครื่องอัลตราซาวด์พกพาติดตัวไปกับรถโรงพยาบาลที่ไปยังจุดเกิดเหตุ ก็จะสามารถวินิจฉัยได้เร็วเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง รวมถึงสามารถส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลเฉพาะทางได้อีกด้วย” นพ.ปิยะมิตร กล่าว

Advertisement

ด้าน รศ.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมีการใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่เครื่องอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในห้องฉุกเฉินและการดูแลผู้ป่วยก่อนไปถึงโรงพยาบาล โดยเมื่อนำเครื่องนี้มาใช้ในการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการฝึกอบรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย และจะเป็นต้นแบบการฝึกอบรมของสถาบันอื่นในประเทศไทยต่อไป

ด้าน นศพ.พรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 กล่าวว่า หลังจากการลองใช้เครื่องอัลตราซาวด์พกพามาแล้ว 1 เดือน ในแผนกฉุกเฉิน ทำให้การวินิจฉัยอาการมีความสะดวกมากขึ้น โดยไม่ต้องรอคิวเข็นเตียงผู้ป่วยเพื่อใช้เครื่องอัลตราซาวด์ขนาดใหญ่ จึงเป็นการลดระยะเวลาในการรอคอยการรักษาได้ พร้อมทั้งยังสามารถฝึกฝนการใช้งานเครื่องได้มากขึ้น เนื่องจากมีเครื่องอยู่ในมือของเราเอง สามารถใช้เวลาใดก็ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเรียนหลักสูตรการแพทย์ในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image