ช่วยเหลือโลมาปากขวดหลงฝูงโผล่ว่ายอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปที่อ่าวเพ ระยอง

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ว่าพบโลมาปากขวด จำนวน 3 ตัว ที่บริเวณอ่าวเพ ท่าเทียบเรือศรีบ้านเพ หมู่ 2 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง จึงสั่งการให้นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (สทช.1) นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจพบว่าเป็นโลมาปากขวด จำนวน 3 ตัว ขนาดลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร หนึ่งตัว และอีก 2 ตัวจะตัวเล็กกว่า ลำตัวยาวประมาณ 80 ซม. ว่ายวนไปมาใกล้กับท่าเรือ สร้างความฮือฮาให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะโลมาทั้ง 3 ตัวไม่มีท่าทีตื่นคน ยังว่ายผ่านไปมาอวดสายตาผู้ที่คอยดูอยู่บนท่าเรือ ที่คอยถ่ายรูปกันจำนวนมาก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำเรือยางต้อนฝูงโลมาปากขวดออกไปยังกลางทะเลด้านหมู่เกาะเสม็ด-เขาแหลมหญ้า ไม่อย่างนั้นจะเกิดอันตรายแก่ฝูงโลมาได้ ซึ่งคาดว่าฝูงโลมานี้ น่าจะพลัดหลงจากฝูง หรือไล่ตามฝูงลูกปลา

อธิบดี ทช.กล่าวต่อว่า สำหรับโลมาที่พบทั้ง 3 ตัว เป็นโลมาปากขวด หรือโลมาหัวขวด เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมีลำตัวสีน้ำเงินเข้ม อมเทา สีจางหรือบางครั้งอมชมพูด้านท้อง จะงอยปากค่อนข้างสั้นใหญ่ ครีบหลังขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นรูปโค้งอยู่กึ่งกลางหลัง รูปร่างค่อนข้างอ้วน ไม่มีลายหรือจุดประแต่ประการใด ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 2-3 เมตร มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ในบางฝูงอาจพบได้ถึงจำนวนมากหลายร้อยตัว โลมาปากขวด เป็นโลมาที่ฉลาด มีความแสนรู้ ขี้เล่น เป็นมิตรกับมนุษย์ อีกทั้งในพื้นที่ จ.ระยอง มีแหล่งอาหารสมบรูณ์และน้ำทะเลที่ใสสะอาดจึงทำให้มีแหล่งอาหาร ฝูงปลาน้อยใหญ่ที่ทำให้โลมาเข้ามาหากิน และมักจะพบเห็นได้ทั่วไปในทะเลอ่าวไทย

“ในโอกาสอันดีนี้ จึงขอฝากให้ประชาชนทุกคน ช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่อีกแรงหนึ่ง ในการดูแลทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทย โดยการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ลดการใช้ขยะที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ที่ได้ดำเนินงานตาม Roadmap ของรัฐบาลในด้านการจัดการพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในขณะนี้ เพื่อลดปริมาณขยะบนบกไหลลงสู่ทะเล ซึ่งขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสัตว์ทะเลหายากและระบบนิเวศทางทะเล อีกทั้งใช้เครื่องมือทำการประมงที่ถูกกฎหมาย หากพบเจอสัตว์ทะเลหายากว่ายน้ำอยู่บริเวณนั้น ให้หลีกเลี่ยงออกห่างทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก และให้พวกเขาเหล่านั้นได้อยู่คู่กับท้องทะเลไทยต่อไป” อธิบดี ทช.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image