สปสช.เปิดข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ พบยอดบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนปีละกว่าหมื่นราย ตาย 3.4 พันราย คนเดินเท้ามีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ขับขี่ โดยอัตราการตายจะเพิ่มสูงขึ้นตามช่วงวัย
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุบัติภัยบนท้องถนนสูงติด อันดับต้นๆ ของโลก โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าปัญหาอุบัติเหตุทางถนนนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของไทย และจากข้อมูลการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการขนส่งทางบกที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระหว่างปี 2558-2561 พบว่า รวม 4 ปี มีผู้บาดเจ็บ 265,243 ราย เสียชีวิต 13,861 ราย ค่ารักษากว่า 6,015 ล้านบาท แยกเป็นแต่ละปี ดังนี้ ปี 2558 บาดเจ็บ 62,773 ราย เสียชีวิต 3,509 ราย ค่ารักษา 1,308 ล้านบาท, ปี 2559 บาดเจ็บ 63,981 ราย เสียชีวิต 3,486 ราย ค่ารักษา 1,534 ล้านบาท, ปี 2560 บาดเจ็บ 67,517 ราย เสียชีวิต 3,440 ราย ค่ารักษา 1,529 ล้านบาท และ ปี 2561 บาดเจ็บ 70,972 ราย เสียชีวิต 3,426 ราย ค่ารักษา 1,644 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ของการเก็บข้อมูล มีประชาชนคนเดินเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ 10,672 ราย เสียชีวิต 916 ราย คิดเป็น ร้อยละ 8.6 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในหมวดอุบัติเหตุ เมื่อเทียบเคียงระหว่างการบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งยังพบว่าเมื่อเกิดการบาดเจ็บ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าทุกช่วงวัย และอัตราการเสียชีวิตจะลดหลั่นลงมาตามลำดับช่วงอายุ กล่าวคือผู้ที่มีอายุน้อยจะมีอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่าผู้ที่มีอายุมาก สำหรับกลุ่มผู้ที่มีจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในหมวดอุบัติเหตุ ได้แก่ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ บาดเจ็บ 210,963 ราย เสียชีวิต 11,177 ราย คิดเป็น ร้อยละ 5.3 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รองลงมาคือผู้ที่ใช้จักรยาน บาดเจ็บ 28,728 ราย เสียชีวิต 608 ราย คิดเป็น ร้อยละ 2.1 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในส่วนของประเภทการชนนั้น พบว่าอันดับหนึ่งคือขับขี่ล้มหรือคว่ำเองโดยไม่เกี่ยว กับการชน บาดเจ็บ 135,980 ราย เสียชีวิต 4,899 ราย คิดเป็น ร้อยละ 3.6 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รองลงมาคือชนกับรถยนต์ รถกระบะบรรทุกเล็กหรือรถตู้ บาดเจ็บ 63,692 ราย เสียชีวิต 4,348 ราย คิดเป็น ร้อยละ 6.8 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนสิ่งที่ทำให้เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตสูงที่สุดคือการชนกับรถไฟ มีผู้บาดเจ็บ 333 ราย เสียชีวิต 35 ราย คิดเป็น ร้อยละ 10.5 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ เมื่อสำรวจสถิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง พบว่าคนเดินเท้ามีสัดส่วนการเสียชีวิตที่สูงกว่าผู้ขับขี่ โดยตลอด 4 ปี มีคนเดินเท้าบาดเจ็บทั้งสิ้น 10,672 ราย เสียชีวิต 916 ราย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 8.58 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บ 215,794 ราย เสียชีวิต 10,752 ราย คิดเป็น ร้อยละ 4.98 ของผู้ที่ได้บาดเจ็บ
“เมื่อเปรียบเทียบผู้บาดเจ็บระหว่างปี 2558-2561 พบว่ามี 9 จังหวัดที่เพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 20 ได้แก่ บึงกาฬ ชัยภูมิ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี นราธิวาส และอีก 3 จังหวัด ที่ลดน้อยลงกว่า ร้อยละ 5 ได้แก่ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี และชัยนาท” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับรักษาพยาบาล พบว่าในปีงบประมาณ 2561 มีผู้ป่วย 70,972 ราย โดย สปสช. จ่ายชดเชยไปทั้งสิ้น 1,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีผู้ป่วย 62,773 ราย จ่ายชดเชยเป็นจำนวน 1,308 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเก็บเฉพาะประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็จะเห็นว่าปัญหาอุบัติภัยทางถนนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และมีแนวโมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนพยายามแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การรณรงค์ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติของไทย ที่ต้องทำ เป็นระบบและดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่