สำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็น ‘เบาหวาน’ 4.8 ล้านคน มีความเสี่ยงอีก 7.7 ล้านคน

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) โดยในปีนี้ สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “DIABETES: PROTECT YOUR FAMILY” ซึ่งประเทศไทย โดย สธ.และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ให้สอดคล้องกับสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ คือ “คุณป้องกันครอบครัวจากโรคเบาหวานได้” โดยสมาชิกในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ในการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยเบาหวาน อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยสำคัญในการลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการป่วยด้วยโรคเบาหวานแก่สมาชิกคนอื่นในครอบครัว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 108 ล้านคน ในปี 2523 เป็น 422 ล้านคน ในปี 2557 และพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง อีกทั้งยังพบว่าปี 2559 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1.5 ล้านคน และอีก 2.2 ล้านคน เสียชีวิตเนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูง

“สำหรับประเทศไทยพบแนวโน้มผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557 ประมาณการของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมากถึง 2 ล้านคน ที่ไม่ทราบว่าตนเองป่วยและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และมีผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานถึง 7.7 ล้านคน หากประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่สนใจดูแลสุขภาพตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ทำให้การทำงานของระบบหัวใจ หลอดเลือด ตา ไตและเส้นประสาท บกพร่องและอาจเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สธ.ร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขและองค์กรเอกชน กระตุ้นและสนับสนุนการคัดกรองโรคเบาหวานในประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป พร้อมสนับสนุน และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เพิ่มกิจกรรมทางกาย และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และสร้างความตระหนักและการรับรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เช่น ปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือน การป้องกันการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย โดยเน้นความสำคัญของครอบครัวที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

Advertisement

“ส่วนคำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคเบาหวาน ดังนี้ 1.รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลสูง เลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด 2.ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 3.ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร ควบคุมรอบเอวให้เหมาะสม โดยเส้นรอบเอวต้องไม่เกินค่าส่วนสูง(เซนติเมตร) หารสอง 4.มีการเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน 5 ครั้ง/สัปดาห์ 5.ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เพื่อให้จิตใจแจ่มใส ผ่อนคลาย ช่วยจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม 6.ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแล ใส่ใจ เรื่องการควบคุมอาหาร, การรับประทานยา การเข้ารับการตรวจตามนัด และสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น ได้แก่ การเกิดบาดแผลโดยเฉพาะที่เท้า และอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น 7.หากมีอาการ เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก ชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และ 8. ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image