สเปน พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกจากการมีเพศสัมพันธ์ ชายกับชาย สธ. เผยไทยยังไม่พบ

67014248 - mosquito, malaria, influenza

สเปน พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกจากการมีเพศสัมพันธ์ ชายกับชาย สธ. เผยไทยยังไม่พบ

จากกรณีที่มีรายงานข่าวในต่างประเทศว่า พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกชาวสเปนติดเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกผ่านการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายนั้น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า กรณีดังกล่าว ผลตรวจพบเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกในอสุจิของทั้งผู้ป่วยและ คู่นอนชาย ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่แพร่ระบาดในประเทศคิวบา ซึ่งทั้งคู่เคยไปมาก่อนหน้านี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อผ่านช่องทางการมีเพศสัมพันธ์ เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลต่อไป ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อผ่านช่องทางดังกล่าวแต่อย่างใด

นพ.อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการติดต่อของโรคไข้เลือดออก ในช่องทางหลักยังเป็นการถูกยุงลายกัด ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ซึ่งจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดท้อง หรือท้องเสียร่วมด้วย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะยาบางชนิด เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น ถ้ามีไข้สูงนานเกินสองวัน ควรรีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล และช่วงไข้ลด ถ้ามีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดไหลที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ทันท่วงที เพราะอาจเสียชีวิตได้

Advertisement

“สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก ควรเน้นไปที่การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นกำลังหลักในระดับพื้นที่ที่จะกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับยุงลาย โดยการสื่อสารให้ความรู้เรื่องภัยสุขภาพ ร่วมกับใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ได้ เน้นการจัดการในพื้นที่ 7 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน/บ้าน 2.โรงเรียน 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ต/อุทยาน 5.โรงธรรม/วัด/มัสยิด/โบสถ์ 6.โรงงานอุตสาหกรรม/เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 7.สถานที่ราชการของแต่ละหน่วยงานเครือข่าย” นพ.อัษฎางค์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.อัษฎางค์ กล่าว และว่า อสม. และผู้ที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันสำรวจประเมินความเสี่ยงจากความหนาแน่นของลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ โดยได้เริ่มพัฒนาระบบการรายงานแบบออนไลน์ ซึ่งนำมาใช้ในบางพื้นที่แล้ว และพร้อมจะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ไปพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร อสม. ตามนโนบายของรัฐบาลและ สธ. ซึ่งจะเพิ่มความรวดเร็วในการประเมินความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในแต่ละพื้นที่ และดำเนินการจัดการแก้ปัญหาให้ทันเวลาได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดการกับยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคติดต่อนำโดยแมลง จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image