คพ. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี จากการปล่อยน้ำเสียช่วงเก็บเกี่ยวข้าว

คพ. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำแม่น้ำปราจีน จากการปล่อยน้ำเสียช่วงเก็บเกี่ยวข้าว

วันที่ 16 พฤศจิกายน นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส. ได้สั่งการให้ คพ. ประสานทางจ.ปราจีนบุรี พร้อมติดตามเฝ้าระวัง และสนับสนุนกรณีที่โครงการชลประทาน จ.ปราจีนบุรี ได้เปิดประตูระบายน้ำคลองสารภี ต.วัดโบสถ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาการระบายน้ำประมาณ 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากน้ำที่ระบายออกมามีปริมาณมากและอยู่ในเกณฑ์คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม เมื่อปล่อยออกมาสู่แม่น้ำปราจีนบุรีอาจก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีพื้นที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรีต่อเนื่องยัง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โครงการชลประทานปราจีนบุรี จึงได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี จากการเปิดระบายน้ำเพื่อการเก็บเกี่ยวปี 2562

 

Advertisement

นายประลอง กล่าวต่อว่า คพ.เฝ้าติดตามและให้การสนับสนุนการทำงานของศูนย์เฉพาะกิจฯ ดังกล่าว โดยได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.)ปราจีนบุรี ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี ณ บริเวณวัดหัวไผ่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ใต้ปากคลองสารภีลงมาประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์เฉพาะกิจฯ จะพิจารณาข้อมูลคุณภาพน้ำและปรับปริมาณการระบายให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทั้งนี้จะระบายโดยกดสันบานบนลง เพื่อให้น้ำล้นสันบานเกิดการเติมอากาศและป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนออกสู่แม่น้ำ ทั้งนี้ศูนย์เฉพาะกิจฯ ดังกล่าว ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์หากเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา

นายประลอง กล่าวต่อว่า คพ. ขอแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมรับสถานการณ์หากเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียโดยมีข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังควรเตรียมการโดยคัดเลือกสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ออกจำหน่ายก่อน หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในช่วงทีมีการเปิดประตูระบายน้ำ เฝ้าระวังโดยสังเกตดูอาการของสัตว์น้ำว่ามีอาการลอยหัวหรือไม่ หากสัตว์น้ำในกระชังลอยหัวเป็นเวลานาน ให้ใช้ปั๊มน้ำหรือปั๊มลมเติมออกซิเจนในกระชังโดยด่วน และลดปริมาณการให้อาหาร หากมีสัตว์น้ำตายจำนวนมากให้เก็บขึ้นมาแปรรูปหรือกำจัดโดยการฝังกลบในหลุมห้ามทิ้งลงแหล่งน้ำซึ่งจะทำให้เกิดน้ำเน่าเสียมากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image