เปิด ‘กองทุนบัตรทอง’ ปี’63 ขยายบริการ-เน้นป้องกันโรค

ช่วงการเปลี่ยนผ่านปีงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ซึ่งเข้าสู่ปีงบประมาณ 2563 การใช้จ่ายเม็ดเงินของกองทุนจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมเฝ้าติดตาม เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประชาชนไม่ต่ำกว่า 48 ล้านคน

ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการอภิปราย “ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแนวทางการจ่ายเงินกองทุนฯ ปี 2563” ไว้อย่างน่าสนใจ

นางดวงตา ตันโช ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน กล่าวว่า งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่คาดว่าจะได้รับในปี 2563 นั้นเพิ่มขึ้นถึง 8,781 ล้านบาท หรือราว 1.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.8 เทียบจากปี 2562 ที่ได้รับ 1.81 แสนล้านบาท โดยงบเหมาจ่ายรายหัวนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 บาท จาก 3,426 บาทต่อประชากร

Advertisement

“หากดูจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2545 จะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จากขณะนั้นซึ่งมีเพียง 4.5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเกือบ 4 เท่า พร้อมกับประเภทและขอบเขตบริการที่เพิ่มขึ้นใหม่ด้วย” นางดวงตา กล่าวและว่า ในส่วนของบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สิ่งที่เพิ่มใหม่ในปี 2563 อาทิ นำร่องบริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ยา PrEP) การตรวจคัดกรองยีนส์เอชแอลเอ (HLA) เพื่อป้องกันอาการแพ้อย่างรุนแรง การคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 35 ปี วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก (Rota virus vaccine) และค่าชดเชยวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดในพื้นที่ภาคใต้

ขณะที่ด้านบริการรักษา นางดวงตา บอกว่า ได้เพิ่มการนำร่องบริการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติ เพิ่มยาบัญชี จ.(2) สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง นำร่องลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วยการรับยาที่ร้านยา นำร่องการดูแลโรคหายาก (Rare disease) ส่วนด้านบริการฟื้นฟู สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ บริการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงขยายไปยังทุกสิทธิ ทุกกลุ่มอายุ พร้อมปรับเพิ่มรายการจ่ายค่าอุปกรณ์และบริการฟื้นฟูโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

Advertisement

นางดวงตา กล่าวว่า แต่ความท้าทายในการดำเนินงานหลังจากนี้คือ การสร้างความยั่งยืนด้านการเงินการคลังในระยะยาว การลดความเหลื่อมล้ำที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงวัย หรือผู้ต้องขัง พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ลดความแออัด พัฒนาบริการฉุกเฉิน รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลต่างๆ ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ในส่วนของแนวทางการจ่ายเงิน นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ได้พยายามจัดสรรเงินให้เรียบง่าย เปลี่ยนแปลงน้อย และอิงของเดิมมากที่สุด เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลสับสน ส่วนงบใหม่ๆ คือ การเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงหรือกลุ่มเปราะบาง สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากปี 2562 ในบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป (OP) เช่น รวมบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธี Fit Test (การตรวจหาลือดในอุจจาระ) ส่วนในบริการผู้ป่วยในทั่วไป (IP) เช่น ปรับอัตราจ่ายเบื้องต้นจาก 8,050 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (adjRW) เป็น 8,250 บาทต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (adjRW) พร้อมกับเพิ่มบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS) จาก 12 รายการเป็น 24 รายการ และเพิ่มบริการผ่าตัดแผลเล็ก (MIS) ใน 3 โรค

นพ.การุณย์ ระบุว่า ยังมีการสนับสนุนประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ โดยพัฒนากระบวนการเพื่อให้หน่วยบริการได้รับการจ่ายชดเชยได้รวดเร็วขึ้น และในปี 2564 อาจมีการปรับปรุงระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือดีอาร์จี (DRGs) ตามข้อมูลปัญหาที่พบในการใช้เวอร์ชั่น 5 รวมทั้งประเด็นผลกระทบหากจะใช้กลุ่มดีอาร์จีเวอร์ชั่น 6 ตามความเห็นของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ

“ขณะที่การบริการกรณีเฉพาะได้ปรับปรุงแนวทางจัดบริการวัณโรคใหม่ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการล่าสุด เริ่มบริการการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กรณีธาลัสซีเมีย รวมถึงบริการการดูแลผู้ป่วยโรคหายาก โดยเริ่มในกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของสารโมเลกุลเล็ก (Disorders of small molecules) จำนวน 24 โรค เป็นต้น” นพ.การุณย์ กล่าวและว่า ส่วนด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้มีการเพิ่มยาเมดาบอน (Medabon) สำหรับบริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ปรับและเพิ่มรายการการจ่ายชดเชยแบบ Fee schedule หรือการจ่ายตามรายการที่กำหนดในบริการทันตกรรม เพิ่มทางเลือกการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA test (การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก) รวมถึงเริ่มโมเดลใหม่ของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเขตพื้นที่ที่มีความพร้อม

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในบริการเหมาจ่ายรายหัวนั้น ได้ปรับแนวทางบริการฟื้นฟูใหม่ให้สอดคล้องกับตามประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พ.ศ.2562 และการจ่ายตามผลงานบริการ โดยปี 2564 อาจกำหนดแนวทางการจ่ายรูปแบบใหม่เพื่อบูรณาการการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ส่วนบริการแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพรนั้น จะปรับเป็นการจ่ายตามผลงานบริการทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image