‘รพ.อ่างทอง’ เอาผิดโจ๋รุมตีในห้องฉุกเฉิน เรียกค่าเสียหายตั้งแต่จอมอนิเตอร์ ยันไม้กวาด

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ สธ. นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ. และคณะบริหาร ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เรื่องการกำหนดมาตรการป้องกันเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาล

นพ.ประภาส ลี้สุทธิพรชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) อ่างทอง กล่าวว่า จากเหตุการณ์วิวาทใน รพ.อ่างทอง ที่เกิดขึ้นล่าสุด ขณะนี้ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว 2 ข้อหา คือ 1.บุกรุกสถานที่ราชการ สามารถดำเนินคดีได้ทันที ซึ่งศาลตัดสินไม่ให้ประกันตัวผู้ก่อเหตุ 2.การทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบพบของที่เสียหาย คือ จอมอนิเตอร์ในห้องฉุกเฉิน ประตูกั้นทางเข้าห้องฉุกเฉิน เครื่องทำน้ำเย็น และไม้กวาดที่คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กัน ซึ่งเป็นความผิดทางแพ่ง และจะดำเนินคดีควบคู่กับคดีทางอาญาต่อไป

Advertisement

นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.มีการสั่งการ 2 ข้อไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ คือ 1.การป้องกัน จึงได้ทำหนังสือส่งถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อขอความร่วมมือการกำหนดนโยบายในการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมายังพื้นที่เกิดเหตุเมื่อได้รับสัญญาณเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินในโรงพยาบาล และควรมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมเหตุอย่างน้อย 10 นาย ทั้งนี้ในขั้นแรก โรงพยาบาลเมื่อได้รับผู้บาดเจ็บจะต้องคัดกรองเหตุว่าผู้บาดเจ็บนั้นได้รับความบาดเจ็บจากสาเหตุใด และเมื่อเห็นว่ามีความเสี่ยงจึงจะต้องแจ้งไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภอ.) เพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่มาควบคุมเหตุการณ์ 2.ป้องปราม คือ โรงพยาบาลที่เกิดเหตุความรุนแรงการวิวาท จะต้องมีการระบุโทษอย่างเด็ดขาดโดยอาศัยดุลยพินิจของกระบวนยุติธรรม แต่จะต้องลงโทษหนัก เพื่อไม่ให้มีผู้อื่นกระทำเหตุการณ์เช่นนี้อีก

“ขอบคุณที่ทุกคนเป็นห่วงความปลอดภัยของแพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ในขณะทำงานเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บ ขณะนี้ สธ.ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยัง ตร.แล้ว โดยจากประสบการณ์แล้วจะพบว่าในลำดับแรกผู้บาดเจ็บจะมาเพียงไม่กี่คน หากแพทย์/เจ้าหน้าที่คัดกรองเหตุได้และแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันก่อนที่ญาติของทั้ง 2 ฝ่าย จะมาพบกันที่โรงพยาบาล ก็จะช่วยให้เหตุการณ์ไม่รุนแรงได้ ทั้งนี้ได้สั่งมาตรการควบคุมเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาลไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ขณะนี้มั่นใจได้ว่าทางโรงพยาบาลแต่ละที่จะสามารถดูแลได้ หากเกิดเหตุขึ้นก็จะไม่กระทบกับทางโรงพยาบาลมากนัก และพร้อมในการให้บริการในช่วงเทศกาลได้ปลอดภัย” นายสาธิต กล่าว

ด้าน นพ.ยงยศ กล่าวว่า มาตรการ 3 ข้อ ที่ได้สั่งการไปแล้ว คือ 1.การเตรียมความพร้อมของอาคารสถานที่โดยจะต้องมีกล้องวงจรปิดที่ใช้งานได้จริง ภาพชัดเจนที่สามารถระบุหน้าตาของผู้ก่อเหตุได้ การติดตั้งประตูนิรภัยป้องกันความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยรายอื่นในห้องฉุกเฉิน การแจ้งเตือนเหตุไปยัง สภอ.ในท้องที่เพื่อเข้าระงับเหตุ การจัดที่พักสำหรับผู้มาเยี่ยมผู้ป่วยให้เรียบร้อยเป็นสัดส่วนและไม่ให้คนภายนอกเข้าไปยังห้องฉุกเฉินได้ 2.การจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีความสามารถเฉพาะทางตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยระงับเหตุเบื้องต้น รวมไปถึงการตรวจเยี่ยมสถานที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องตรวจเยี่ยมและลงชื่อทุกวันที่กล่องตรวจเยี่ยมของโรงพยาบาล 3.การใช้มาตรการทางกฎหมาย ในการดำเนินคดีอย่างเต็มที่ ไม่เมตตากับผู้ที่ก่อเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

Advertisement

“โดยเหตุการณ์ความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรืองานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ที่จะมีการจัดงานสังสรรค์ของคนในชุมชม ทำให้เกิดเหตุวิวาทกันได้ง่าย ดังนั้นเมื่อถึงช่วงเวลาเทศกาลต่างๆ การจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าบริเวณโรงพยาบาล จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถและปลอดภัย” นพ.ยงยศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image