สธ.จับมือสถาบัน ‘บิล-เมลินดา เกตส์’ วางแผนครอบครัวสร้าง ‘ควอลิตี้’ ประชากรไทย

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่โรงแรมอนันตรา สยาม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าวการจัดประชุมนานาชาติ International Conference on Family Planninig 2021 (ICFP 2021) พร้อมด้วย Mr.Jose Rimon II ผู้อำนวยการสถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และประธานคณะกรรมการจัดงาน ICFP 2021

พญ.พรรณพิมล กล่าว สธ.ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference on Family Planning 2021 หรือ ICFP 2021 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 โดยเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรมและการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลดีสำหรับประเทศไทยในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ในระดับชุมชน การวางแผนครอบครัวด้วยวิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างเท่าเทียมตามสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกระบบ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอันยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals ในปี 2573 ในการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทุกคนทุกช่วงวัยและร่วมกันพัฒนาพลเมืองโลก หรือ Global Citizen ที่มีคุณภาพ

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายประชากร ด้านการวางแผนครอบครัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2513 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เป็นเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ ที่มุ่งมั่นวางแผนครอบครัว จนประสบผลสำเร็จใน 2 เรื่องใหญ่คือ 1.ผลักดันให้มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ ในอัตราสูงขึ้นจาก ร้อยละ 14.8 ในปี 2513 เป็น ร้อยละ 78.4 ในปี 2562 และ 2.ลดอัตราการเพิ่มของประชากร จากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือเพียง ร้อยละ 0.2 ในปี 2562 และในปี 2562 มีอัตราการเกิดเพียง 10.5 ต่อประชากรพันคน ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงปรับเปลี่ยนนโยบายโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมคุณภาพของประชากร โดยวางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ “ควอลิตี้ (Quality)” ของประชากรของประเทศไทย

Advertisement

“เด็กที่เกิดมาทุกคนควรจะต้องมีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ได้รับความช่วยเหลือ ส่งเสริมให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดีเด็กที่เกิดมาควรได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องการเกิดที่ด้อยคุณภาพ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด ตลอดจนปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดที่ด้อยคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนนโยบายการอนามัยเจริญพันธุ์ให้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนเป็นผลสำเร็จ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องพัฒนาและตั้งเป้าหมายเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เพื่อการพัฒนาประชากรที่ยั่งยืน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image