สธ.ผวาแผ่นดินไหว สั่งเฝ้าระวัง “รอยเลื่อนบัว” เตรียมซ้อมแผนอพยพใน รพ.

จากกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งส่งผลกระทบมาสู่ประเทศไทยหลายจังหวัด และส่งผลกระทบต่อสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบทั้งหมด จำนวน 22 แห่ง

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า โครงสร้างแบบอาคารสถานที่ที่ก่อสร้างภายหลังจากปี 2542 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการก่อสร้างที่มีความแข็งแรง สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ แต่มีบางส่วนที่ก่อสร้างในปีก่อนหน้านั้นที่อาจจะมีความทรุดโทรม เกิดรอยร้าว ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวอาจจะส่งผลให้อาคารเกิดความเสียหายได้ ทั้งโรงพยาบาล (รพ.) และอาคารที่พักของบุคลากร

“ในส่วนอาคารที่เก่าแล้วนั้นก็จะต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซม เพราะ สธ.มีนโยบายด้านสถานบริการที่ปลอดภัย รวมไปถึงที่พักอาศัยของบุคลากรทางแพทย์ที่มีความเก่ามากกว่า 20 ปีแล้วนั้น จะต้องดูแลทั้งโครงสร้างและการจัดระเบียบด้วยมาตรการ 5 ส. เก็บข้าวของที่ตั้งอยู่สูงลงมา เนื่องจากหากเกิดแผ่นดินไหวอีกนั้นอาจจะทำให้ของหล่นลงมาได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมี 16 รอยเลื่อน ใน 22 จังหวัด 119 อำเภอ ซึ่งรอยเลื่อนดังกล่าวสถานบริการสาธารณสุขที่เสี่ยงมีทั้งหมด 745 แห่ง ดังนี้

1.สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 1 แห่ง คือ สสจ.เชียงใหม่ 2.สาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) 52 แห่ง 3.โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 1 แห่ง คือ รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 4.โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 52 แห่ง 5.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 639 แห่ง ดังนั้นจะต้องมีมาตรการในการตรวจสอบโครงสร้างของอาคารและสถานบริการสุขภาพต่างๆ ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่

“การที่มีแผ่นดินไหวในเพื่อนบ้านนั้น อาจส่งผลกระทบมายังรอยเลื่อนบัวที่อยู่ในประเทศไทย อาจจะเกิดแผ่นดินไหวในไทยโดยตรงได้ ดังนั้นจะต้องมีมาตรการรับมือ ซ้อมอพยพออกจากอาคาร เพื่อให้เกิดความพร้อม ทั้งแพทย์ เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยในโรงพยาบาล” นพ.วิทูรย์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.วิทูรย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ส่งผลให้สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบทั้งหมด 22 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลจำนวน 12 แห่ง , สสจ. 1 แห่ง , รพ.สต. 5 แห่ง , โรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ (หน่วย PCU) 4 แห่ง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น สธ.มีข้อสั่งการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4 ข้อ ดังนี้ 1.ให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด 2.การเตรียมความพร้อมระดับจังหวัดในการดูแลประชาชน ทีมเคลื่อนไหวเร็วช่วยเหลือด้านการแพทย์ ทีมสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว ทีมฟื้นฟูเยียวยาทางสุขภาพจิต ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม 3.เตรียมอาคารสถานที่ สำรวจจุดเสี่ยงของโครงสร้าง จัดพื้นที่อพยพผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เตรียมแผนการอพยพผู้ป่วย และ 4.ดำเนินการซักซ้อมแผนการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อเตรียมความพร้อมรับรองสถานการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image