“ฝุ่นจิ๋ว” แนวโน้มรุนแรงช่วง ธ.ค.นี้ สธ.วางแผนรับมือทั้งระบบทั่วปท.

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.พรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เรื่อง เตรียมการเฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5

นพ.สุขุม กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ซึ่งในข้อมูลจากปี 2561 จะเห็นได้ชัดว่ามีค่าปริมาณพีเอ็ม 2.5 สูงกว่ามาตรฐานในค่าเฉลี่ยที่สูงที่สุดในเดือนธันวาคม ดังนั้น สธ.จึงต้องเร่งวางแผนรับมือเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ สธ.จะแจกชุดความรู้ พร้อมจัดทำสื่อทั้งรูปแบบภาพ เอกสาร วิดีโอ ให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ใช้แนะนำผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ดูแลตนเองในขณะที่มีฝุ่นละอองในอากาศมาก

นพ.สุขุม กล่าวว่า ได้มอบข้อสั่งการ 8 ข้อ คือ 1.ให้ทุกพื้นที่เตรียมการรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์ประเมินความเสี่ยง แจ้งเตือนประชาชนและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนทุกวัน 2.ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ 3.เตรียมความพร้อมดูแลกลุ่มเสี่ยง ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้คำแนะนำกับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยติดเตียง 4.สถานบริการทุกแห่งเตรียมความพร้อม น้ำ ไฟสำรอง ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และพร้อมเปิดคลินิกมลพิษ เพื่อรักษา ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาลทุกระดับ 5.เฝ้าระวังผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง ระบบตา และอื่นๆ รายงานส่วนกลางทุกสัปดาห์ 6.หากค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีปริมาณมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกิน 3 วัน ให้จังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center: PHEOC) 7.ใช้กลไกคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดในการเตรียมการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 8.จัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นเพื่อเป็นต้นแบบขององค์กรลดฝุ่นละออง

Advertisement

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การวัดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 นั้นเป็นการวัดค่าเฉลี่ยแบบระยะเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อดูการสะสม โดยวัดจากสถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จำนวน 34 จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถดูค่าฝุ่นละออกได้ทันทีด้วยเครื่องเซ็นเซอร์ (Sensor) ที่ได้รับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จำนวน 30 เครื่อง และขณะนี้ยังเหลืออีก 20 จังหวัดที่ไม่มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง จึงจำเป็นต้องใช้การเทียบเคียงค่าจากสถานีที่ใกล้ที่สุด

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้ติดตามค่าฝุ่นละอองเพื่อดูแลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล และเปิดห้องปลอดฝุ่นให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาล เพื่อป้องกันฝุ่นจากภายนอก พร้อมทั้งยังแจกหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 ซึ่งจะต้องอธิบายกับประชาชนว่าหน้ากากอนามัยนั้นก็สามารถป้องกันฝุ่นได้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และความเหมาะสมของการใช้งาน การแจกชุดความรู้ 37คำถาม พบบ่อยเกี่ยวกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 พร้อมจัดทำสื่อให้ความรู้ประชาชน

Advertisement

นพ.มานัส กล่าวว่า ทางกรมการแพทย์จะเปิดคลินิกมลพิษ เพื่อดูแลด้านสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งจะดำเนินงานตามมาตรการ 5 ข้อ คือ 1.ทำแพลตฟอร์มของคลินิกมลพิษให้ง่ายขึ้นเพื่อการเข้าถึง 2.กระจายคลินิกมลพิษไปยังพื้นที่ต่างๆ ใน กทม. อย่างทั่วถึง 3.กระจายคลินิกมลพิษไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทยในทุกภาค 4.เพิ่มการเข้าถึงมากขึ้นด้วยการเปิด คลินิกมลพิษพีเอ็ม 2.5 ออนไลน์ ให้ประชาชนถามข้อสงสัยได้โดยจะมีแพทย์/เจ้าหน้าที่คอยตอบคำถาม 5.อบรมแพทย์และพยาบาลในการดำเนินงานคลินิกมลพิษ พีเอ็ม 2.5 ออนไลน์

นพ.มานัส กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกรณีเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในระดับจังหวัดจะเปิดเมื่อค่า พีเอ็ม2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน และจะปิดศูนย์เมื่อมีค่าเฉลี่ยลดลงน้อยกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 6 วัน โดยมีสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)เป็นผู้รับผิดชอบ

นพ.พรศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพกลุ่มโรค Asthma COPD และ ACD จากการเฝ้าระวังและรายงานจากโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า มีผู้ป่วยโรคหอบหืดที่เป็นโรคจากระบบทางเดินหายใจมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และยังพบอาการอื่นๆ เช่น ผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบ ร่วมด้วย ดังนั้นจึงสั่งการให้จังหวัดที่เฝ้าระวังรายงานข้อมูลไปที่ สธ.ทุกสัปดาห์

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ สบส.ได้ดำเนินงานเพื่อเตรียมการรับมือกับฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ด้วย 5 มาตรการ คือ 1.ให้ อสม.ในพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันและการปฏิบัติตัวเมื่อเจ็บป่วยจากการรับฝุ่นละออง 2.การเตรียมความพร้อมรับมือกับฝุ่นละออง การป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก เอ็น95 3.เผยแพร่แนวทางปฏิบัติตนเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงกับฝุ่นละอองให้กับ อสม.เพื่อให้นำไปถ่ายทอดสู่ประชาชน 4.จัดทำเฟซบุ๊กเพจเพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นและผลกระทบ 5.ทำชุดความรู้แจกจ่ายให้ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image