สปคม.เผยข้อมูล “ตายจากการอุบัติเหตุทางถนน” ในกรุงเทพฯ ต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 47%

สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสถาบันนิติเวชศาสตร์ พัฒนาฐานข้อมูล “3 ฐาน พลัส นิติเวช” ครั้งแรกของประเทศ พบข้อมูลการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนในเขตกรุงเทพมหานครต่ำกว่าความเป็นจริงถึงร้อยละ 47

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ เป็นเขตเมืองใหญ่ ทุกๆ วันจะเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตหรือการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนประมาณ 10 รายต่อวัน และเป็นพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลจำนวนมากและหลากหลายสังกัด ยังไม่มีหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการและครอบคลุมทุกสังกัด ส่งผลให้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่นำมาใช้อ้างอิงในขณะนี้ ยังต่ำกว่าข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ไว้

“กรมควบคุมโรค โดย สปคม. ร่วมกับมูลนิธิสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และมูลนิธิบลูมเบิร์ก เพื่อสาธารณประโยชน์ (BIGRS) ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาฐานข้อมูล กลไก รูปแบบการเก็บและระบบรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการจราจรทางถนนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลของแนวคิดและระบบการจัดการข้อมูลชุดใหม่นี้ (ข้อมูล 3 ฐาน พลัส: ข้อมูลบูรณาการร่วม ตำรวจ มรณบัตร บริษัทกลาง และกลุ่มสถาบันนิติเวชศาสตร์ 7 แห่ง) ตั้งแต่ปี 2559 – 2561 ที่เรียกว่า 3 ฐาน พลัส พบว่า ผู้เสียชีวิตจากการจราจรทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 4,678 ราย ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 47 จากที่ขาดหายไป หรือค้นพบเพิ่มเติมจำนวนมากถึง 2,202 ราย ที่มาจากสถาบันนิติเวชทั้ง 7 แห่ง ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่พบข้อมูลการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนในเขตกรุงเทพฯ ที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริงมากถึงร้อยละ 47 และได้มีการทวนสอบข้อมูลกับกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สธ. พบว่าในทะเบียนมรณบัตร ส่วนใหญ่ไม่ได้ลงสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน” นพ.ปรีชา กล่าว

Advertisement

นพ.ปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อค้นพบที่สำคัญจากโครงการนี้ นับเป็นตัวแบบของการจัดการ “ระบบข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรในเขตเมืองใหญ่บนฐานข้อมูลนิติเวช” (Urban forensic based data quality) ที่ครบถ้วน ทันต่อเวลา ลดภาระงาน จัดการได้และยั่งยืน รวมทั้งสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ทางระบาดวิทยา และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการป้องกันควบคุมโรคในระดับชาติได้อีกด้วย

นพ.ปรีชา กล่าวว่า ได้สร้างเครื่องมือในการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย แบบฟอร์มการยืนยันการให้ข้อมูลกับหน่วยงานราชการ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม (digital platform) กลาง ระบบการเชื่อมโยงข้อมูล เชื่อมการวิเคราะห์และใช้ข้อมูล ก่อให้เกิดระบบเฝ้าระวัง 3 ฐาน พลัส ที่มีการเชื่อมใช้ข้อมูล การได้มาซึ่งข้อมูลและระบบการทำงานใหม่นี้ ต้องใช้ความพยายามร่วมของ สปคม.และ 7 สถาบันนิติเวช เป็นอย่างมาก ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการตลอดระยะเวลา 4 เดือน ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู่การนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน ประเมินนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แนวทาง การบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างความร่วมมือในการบูรณาการ การดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บและ ลดอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนในพื้นที่เขตเมืองต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image