สผ.กับภารกิจพิชิต “เก้าอี้” คณะกรรมการมรดกโลก

ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายนนี้ คณะผู้แทนไทยที่นำโดย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัคราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะหัวหน้าคณะ นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีภาระกิจสำคัญ คือ นำทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านวัฒนธรรม 8-9 คน ลงสนามรับเลือกเพื่อให้ได้เป็นคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเวลานี้มีตำแหน่งว่าง 9 ตำแหน่ง จากคณะกรรมการทั้งหมด 21 ตำแหน่ง

ประเทศไทยลงรับสมัครเลือกตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2560 ที่ระบุว่า ปี 2562 เมื่อตำแหน่งในคณะกรรมการมรดกโลกว่างลง ประเทศไทยจะต้องลงรับสมัครเลือกตั้ง ทั้งนี้ประเทศไทยเว้นว่างจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้วถึง 6 ปี ด้วยกัน หากประเทศไทยได้รับเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ จะมีวาระการทำงาน 4 ปี โดยในอดีตประเทศไทยเคยทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้ว 3 สมัย

นางรวีวรรณ ในฐานะฝ่ายเลขานุการอนุสัญญามรดกโลกประเทศไทย เปิดเผยว่า หากประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการมรดกโลกในครั้งนี้ จะสามารถเข้าไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนข้อเสนอที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ ที่เสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและแหล่งมรดกทางธรรมชาติให้เป็นมรดกโลก ให้ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หรือกระทั่งแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในสถานะอันตราย ก็จะแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้นๆ ให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เพื่อให้ได้สถานะที่เป็นปกติได้

“การลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ เราลงรับเลือกตั้งในโควต้าของประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ซึ่งกลุ่มนี้จะมีที่ว่าง 1 ตำแหน่ง ที่น่าตื่นเต้น และต้องลุ้นกันก็คือ ณ เวลานี้ เรายังไม่รู้เลยว่า จะมีประเทศไหนในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกลงชิงเก้าอี้กับเราบ้าง เพราะกติกาของยูเนสโกกำหนดเอาไว้ว่า ทุกประเทศสามารถสมัครได้ภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนการลงคะแนนเสียง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยนายสีหศักดิ์ ก็ได้ทำหน้าที่การขอคะแนนเสียงจากกลุ่มประเทศสมาชิก และได้รับการตอบรับอย่างดีเสมอมา” นางรวีวรรณ กล่าว

Advertisement

เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทย สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ประเทศไทยเสนอกับนานาประเทศ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายก็คือ การนำมรดกโลกไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมให้สิ่งสำคัญ คุณค่า ความโดดเด่น และการอนุรักษ์ เกิดความยั่งยืนยาวนานที่สุด ดังนั้นจึงจะมีการส่งเสริมเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการสืบค้นข้อมูล เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงข้อมูลในมรดกโลกนั้นๆ รวมไปถึงให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

กับคำถามที่ว่า หากได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีผลต่อการผลักดันให้มรดกโลกของประเทศไทยที่จะนำเสนอเพื่อให้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกครั้งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือไม่ อย่างไรบ้าง

ฝ่ายเลขานุการอนุสัญญามรดกโลกประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าเข้าไปนั่งเป็นกรรมการมรดกโลกเพื่อตัวเองคงไม่เหมาะนัก แต่ถึงเวลานั้น เมื่อมีหมวก 2 ใบ หมวกแต่ละใบก็จะทำหน้าที่แตกต่างกัน ในฐานะกรรมการมรดกโลกก็น่าจะเห็นแนวทาง ขั้นตอน วิธีการ อุปสรรค มากขึ้น และสามารถชี้แนะว่าควรจะแก้ไข อะไรตรงไหน อย่างไร ซึ่งเมื่อแก้ไขได้ ทำตามทุกขั้นตอนได้ คุณสมบัติครบ การได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกก็ไม่น่าจะยากนัก

Advertisement

ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพเพื่อจัดงานแนะนำตัวกับภาคีสมาชิกทั้ง 193 ประเทศ ในงานไทย ไนท์ (Thai Night) ที่ยูเนสโก ภายในงานจะนอกจากจะมีการพบปะพูดคุยกับประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีอาหารไทย ศิลปะการแสดงไทย ไปนำเสนอกับภาคีสมาชิกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image